xs
xsm
sm
md
lg

SIFเครื่องมือใหม่ UN ผลักโลกบรรลุเป้าSDGs ปี2030

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


๐ จะทำอย่างไรเมื่อ Sustainable Development Goals (SDGs) ส่อไม่บรรลุเป้า

๐ UN งัดเครื่องมือใหม่ SDG Impact Finance (SIF) ใช้กลไกเงินลงทุนเร่งผลักดัน

๐ ไทยเตรียมเทรนนิ่งสถาบันการเงิน-หน่วยงานประเมินผลกระทบทางสังคม มุ่งบรรลุเป้าในปี 2030

หลังจากรายงาน SDGs Index ฉบับล่าสุดที่จัดทำขึ้นในปีค.ศ.2018 พบว่า Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำหนดไว้ 17 หัวข้อ น่าจะไม่สามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีค.ศ. 2030 ส่งผลให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) จัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ชื่อว่า “SDG Impact Finance” หรือ “SIF” ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเงินทุนของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกให้พุ่งเป้ามาที่ SDGs เพื่อเป็นการใช้ “กลไกของตลาดทุน” ให้ได้ผลตอบแทนทั้ง “ด้านเม็ดเงิน” และ “ด้านสังคม” ควบคู่กันไป ซึ่งในการรายงานผลด้านการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์สามารถใช้งบการเงิน แต่การ “รายงานผลตอบแทนทางสังคม” ในทั่วโลกยังไม่มี จึงทำให้เกิด “Impact Measurement &Management Framework” หรือ IMM เป็น “กรอบแนวทาง” ในการรายงานผลกระทบทางสังคม (social impact) เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทสามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่อง

๐ 5 มิติ 3 ระดับ วัดผลกระทบต่อสังคม

การรายงานผลกระทบทางสังคม (social impact) บอกถึงผลกระทบใน 5 มิติ ได้แก่ หนึ่ง “What” กระทบอะไร เช่น ด้านการศึกษา ด้านความยากจน ด้านส่งเสริมพลังงานสะอาด ฯลฯ

สอง “Who” กระทบกับใคร เช่น ให้บริการกับคนรวยหรือคนจนในพื้นที่ใด เช่น ในอินเดีย ในอเมริกาหรือในแอฟริกา

สาม “How much” กระทบมากน้อยเพียงใด

สี่ “Contribution” องค์กรมีสัดส่วนหรือส่วนร่วมมากน้อยเพียงใดในการทำให้เกิดผลกระทบนั้นๆ

และห้า “Risk” ความเสี่ยงของโครงการต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใด เช่น โครงการที่ใช้เงินลงทุนมากแต่มีความเสี่ยงสูงว่าจะสำเร็จเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรจะปรับลดเงินลงทุนในโครงการนั้น และนำไปกระจายในโครงการอื่นเพื่อลดความเสี่ยงลง ซึ่งที่ผ่านมาโดยทั่วไปการลงทุนในโครงการด้านสังคมมักจะละเลยมิติด้านการประเมินความเสี่ยงของผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการนำมาประเมินเช่นนี้ จึงเป็นกรอบแนวทางหรือวิธีคิดของนักลงทุนที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าพอร์ตในการลงทุนของเขามีผลกระทบต่อสังคมเท่าไร

โดยมีการกำหนดการลงทุนเป็น 3 ระดับ เรียกว่า “Impact Class” เริ่มจากระดับ A-Act to avoid harm คือ การลงทุนในธุรกิจที่ “ไม่เลว” แต่ไม่ได้แปลว่า “ดี” แค่เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ดีต่อสังคม เช่น ไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น เรียกการลงทุนเช่นนี้ว่า “negative screening” คือการตัดบริษัทที่มีแนวโน้มทำไม่ดีหรือทำเลวทิ้ง

ระดับ B-Benefit to Steakholders คือ การลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญหรือสร้างประโยชน์ต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสามารถดูว่าองค์กรหรือคู่ค้าทำมากกว่ามาตรฐาน เช่น มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในทางที่ดี เป็นต้น

ระดับ C-Contribute to solutions คือ การลงทุนที่บริษัทตั้งใจจะช่วยแก้ปัญหาให้สังคม เช่น แก้ปัญหาด้านพลังงาน ด้านการศึกษา ฯลฯ เป็นบริษัทที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมในทุกๆ วัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวก (positive impact)

การกำหนดการลงทุนเป็น 3 ระดับเช่นนี้ ทำให้เห็นว่าเม็ดเงินลงทุนที่มีอยู่มีสัดส่วนในการลงทุนอย่างไร โดยหลักการคือต้องดูว่า “เม็ดเงินที่ลงทุนเอาไปทำอะไร” เช่น นำเงินไปพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco product) การลงทุนเช่นนี้จะอยู่ในระดับ C แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในองค์กรหรือบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจหลักอยู่ในระดับ A หรือ B ก็ตาม

ยกตัวอย่างการลงทุนในธุรกิจยางรถแข่งพีแรลลี่ PIRELLI มีการลงทุนในระดับ B-Benefit to steakholders ด้วยการทำโครงการที่ปรับปรุงการผลิตทั้งหมดในโรงงาน ทำให้ใช้พลังงานลดลง ของเสียลดลง นอกจากนี้ ยังทำโครงการ green tyre เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และทำให้คุณภาพยางไม่ได้ลดลง หรือธุรกิจสุรา สามารถลงทุนให้อยู่ในระดับ A-Act to avoid harm ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการดื่มอย่างรับผิดชอบ หรือธุรกิจสารเคมีและยาฆ่าแมลง พยายามไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบหรือผลร้ายต่อผู้บริโภคหรือต่อสังคม-สิ่งแวดล้อม โดยต้องกำหนดปริมาณและวิธีการใช้อย่างชัดเจน เป็นต้น

ปัจจุบันมีการนำ IMM ไปใช้ในองค์กรชั้นนำของโลกประมาณ 2,000 แห่ง เป็นสถาบันการเงินและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานและประเมินผลกระทบทางสังคม (social impact) เช่น World Benchmarking เป็นต้น ในการขับเคลื่อนครั้งนี้นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของหน่วยงานระดับโลก ทั้งในฝั่งของการลงทุนและฝั่งการรายงานผลทางสังคมและเศรษฐกิจ ในการร่วมกันหามาตรฐาน (standard framework) เดียวกันทั้งโลก เช่นเดียวกับมาตรฐานทางบัญชีซึ่งกำหนดการรายงานงบการเงินแบบเดียวกันทั้งโลก

๐ เตรียมสร้างความเข้าใจในไทย

สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ Executive Director SOCIAL VALUE THAILAND ในเครือข่าย Social Value International กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ทุกสถาบันการเงินตั้งใจว่าต้องการจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม และตั้งใจว่าจะใส่เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจที่ดี แต่กลับพบว่ากว่า 75% ของพอร์ตการลงทุนของแต่ละแห่งไม่ได้ลงทุนในธุรกิจทั้ง 3 ระดับเลย เป็นการลงทุนไปในธุรกิจที่ไม่ดี เพราะไม่มีเครื่องมือที่ใช้วัดผลกระทบนั่นเอง”

“ดังนั้น เมื่อมีกรอบแนวทางนี้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้สถาบันการเงินนำไปใช้กับภาคเอกชนหรือผู้ที่มารับเงินให้ชี้แจงถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะรับเงินไปลงทุน เช่น กรณีเขื่อนลาวแตก ซึ่งเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนสร้างเขื่อนมาจาก 4 สถาบันการเงิน ดังนั้น สถาบันการเงินจึงเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในฐานะต้นทางคือ ผู้สนับสนุนการเงิน และจำเป็นต้องกำหนดให้มีกระบวนการจัดการหรือการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่ดี มีมาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคม เป็นต้น ต่อไปจะเกิดกระบวนการที่บังคับตั้งแต่องค์กรใหญ่ไล่ลงไปถึงองค์กรเล็ก ให้ทุกส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม”

นอกจากนี้ แม้จะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนของตนเอง หรือไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เนื่องจากการทำธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกันเป็นซัปพลายเชน ไม่ว่าจะอย่างไรจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสังคม เช่น แม้ว่าบริษัทน้ำตาลมิตรผลจะไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ขายน้ำตาลให้กับบริษัทโคคาโคล่าจึงต้องทำตามเกณฑ์มาตรฐานของโลก ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสังคมเช่นกัน

สำหรับการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ในไทย จะดำเนินการผ่านการเทรนนิ่ง โดยมี “Social Value International” หนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรของ UN เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับ “SDG Impact Finance” ในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ เพื่อให้ความรู้กับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

การขับเคลื่อน “Impact Measurement&Management Framework” ในครั้งนี้ จึงเป็น “กรอบแนวทาง” หรือ “เครื่องมือใหม่” ในการมุ่งเป้าไปที่ “ภาคเอกชน” และใช้กลไก “ด้านเงินลงทุน” เป็นหลัก เพื่อให้องค์กรสหประชาชาติ (UN) สามารถผลักดันให้ SDGs บรรลุเป้าประสงค์ได้ในปี 2030 ซึ่งนับจากนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 11 ปีเท่านั้น

SDG Index and Dashboards 2018 ชี้

โลกอาจไม่บรรลุเป้าหมายปี 2030

จากรายงาน SDG Index and Dashboards 2018 พบว่า แม้ว่าหลายประเทศมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว แต่โดยรวมแล้วโลกยังมีความเสี่ยงจะไม่บรรลุเป้าหมายในปี 2030 และมีเพียง 2-3 ประเทศในกลุ่มประเทศ G-20 เท่านั้นที่ได้ดำเนินการชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ในการประเมินความคืบหน้าการเข้าสู่เป้าหมาย SDG Index พบว่า ประเทศที่มีความคืบหน้ามากสุดคือ “สวีเดน” ที่ติดอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 85 คะแนน อันดับสองคือ “เดนมาร์ก” ด้วยคะแนน 84.6 คะแนน อันดับสามคือ “ฟินแลนด์” ด้วยคะแนน 83 คะแนน โดยทั้งสามประเทศดังกล่าวกำลังเดินทางเข้าสู่เป้าหมาย แต่ยังมีสิ่งที่ทั้งสามประเทศต้องทำอีกมากเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย ส่วนอันดับสี่คือ “เยอรมนี” และอันดับห้า “ฝรั่งเศส” เป็นเพียงสมาชิก2 ประเทศ ในกลุ่ม G-7 ที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ขณะที่ประเทศใหญ่อย่าง “สหรัฐฯ” ติดอันดับที่ 35 “จีน” ติดอันดับที่ 54 และ “รัสเซีย” ติดอันดับที่ 63

ไทยแนวโน้มดีขึ้น 3 ข้อคืบหน้า แต่ 6 ข้อท้าทาย

สำหรับประเทศไทย จากรายงาน SDG Index and Dashboards 2018 พบว่า ไทยมีคะแนน 69.2 มีคะแนนเฉลี่ยภูมิภาค 64.1 จัดอยู่ในอันดับที่ 59 จาก 156 ประเทศ โดยประเทศไทยทำได้ดีในด้าน “การขจัดความยากจน” ตามข้อ 1 ซึ่งทำได้สม่ำเสมอ และสิ่งที่ทำได้ดีเพิ่มขึ้นรวมเป็น 3 ข้อจากปีก่อนที่ทำได้ดีเพียงข้อเดียวคือข้อ 1

ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นในข้อ 6 “การจัดการน้ำและสุขาภิบาล” โดยเฉพาะในด้านที่จัดให้ประชากรของประเทศสามารถใช้บริการน้ำดื่มและใช้บริการสุขาภิบาลได้ และข้อ 8 “การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” เมื่อวัดจากประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีบัญชีกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น หรือกับผู้ให้บริการการเงินผ่านมือถือ



สำหรับการดำเนินการตามข้ออื่นๆ ประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น 7 ข้อ คือ ในข้อ 2 ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

โดยในข้อ 2 ทำได้ดีในเรื่องภาวะโภชนาการในเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี ส่วนข้อ 3 มีความสม่ำเสมอในการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด อัตราการเสียชีวิตของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี และที่โดดเด่นมากคือลดอัตราการติดเชื้อ HIV



ในข้อ 7 ที่ทำได้ดีคือการเข้าถึงบริการไฟฟ้าของประชากรและการเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาดและเทคโนโลยีในการหุงต้ม ส่วน ข้อ 9 คะแนนเด่นในด้านจำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้โทรศัพท์มือถือ ข้อ 11 ทำได้ดีในด้านบริการขนส่งสาธารณะ และข้อ 14 ดีขึ้นในด้านคุณภาพน้ำทะเล



แต่มีเป้าหมาย 6 ข้อที่นับเป็นความท้าทาย ได้แก่ ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้จะดีขึ้นแต่ยังไม่ถือว่าผ่าน ขณะที่การดำเนินการข้อ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ส่วนข้อที่มีทำได้แย่ลงคือข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เป็นความท้าทายของประเทศไทยเช่นกันที่จะบรรลุเป้าประสงค์ SDGs ให้ทันเวลา

ที่มาภาพ:https://dashboards.sdgindex.org/#/


กำลังโหลดความคิดเห็น