xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ. สนับสนุนโครงการพยาบาลชุมชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนบ้านเกิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"โครงการพยาบาลชุมชน ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ได้ช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนของตัวเอง งานเหนื่อยค่ะ ทำทุกอย่าง แต่ก็มีความสุขมาก"
นี่คือความรู้สึกของนางสาวธัญญา ธงพรรษา พยาบาลวิชาชีพ รุ่น 9 (พ.ศ.2557-2561) ซึ่งเพิ่งจบการศึกษาและกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้ประมาณ 4 เดือน พร้อมเล่าว่าอยากเป็นพยาบาลมาตั้งแต่เด็ก ภูมิใจมากที่ได้มาทำงานในชุมชนของตัวเอง แม้ว่าจะมีความท้าทายตรงที่งานนี้ไม่ได้อยู่แค่ในโรงพยาบาล ต้องโดนแดดโดนฝน ลงพื้นที่จริง ๆ แต่มีความสุขเพราะได้ทำงานทั้ง 4 ด้านตามบทบาทของพยาบาล คือ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

แพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ผู้ริเริ่มโครงการพยาบาลชุมชน ในพื้นที่อำเภอน้ำพองและอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าจากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มากว่า 30 ปี ทำให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในโรงพยาบาลของอำเภอ ขณะที่มีเยาวชนที่สนใจในการประกอบอาชีพพยาบาล แต่ขาดโอกาสทางการศึกษา โครงการนี้ จึงถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2529 โดยในช่วงแรก ได้ขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาล จนกระทั่งเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้ามาสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับโครงการเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชนตามเจตนารมณ์เดียวกัน
จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ. มีส่วนสนับสนุนการผลิตพยาบาลวิชาชีพในโครงการพยาบาลชุมชน 23 คน จบการศึกษาแล้วจำนวน 19 คน อีก 4 คนอยู่ระหว่างการศึกษาที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดขอนแก่น
"หัวใจหลักของโครงการพยาบาลชุมชน คือ การเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสศึกษาต่อ แล้วกลับมาช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน" คุณหมอทานทิพย์กล่าว และเล่าถึงปัจจัยที่ทำให้โครงการพยาบาลชุมชนสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนว่า นักเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะต้องมาทำกิจกรรมจิตอาสาเป็นผู้ช่วยพยาบาลในโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ตั้งแต่ยังอยู่ชั้น ม. 4 จนถึง ม.6 รวมจำนวน 60 ครั้ง ภายใน 3 ปี เพื่อค้นพบตัวเองว่ารักวิชาชีพนี้และพร้อมจะศึกษาต่อเพื่อประกอบอาชีพนี้จริงหรือไม่"
นางสาวภัทรวดี โสมัตนัย พยาบาลวิชาชีพ นักศึกษาในโครงการพยาบาลชุมชนรุ่นแรก (พ.ศ.2547 - 2553) บอกว่า เดิมเธอไม่ได้วางแผนที่จะเรียนพยาบาล แต่หลังจากได้ทดลองฝึกกิจกรรมจิตอาสาที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ทำให้เธอค้นพบตัวเองว่า เธอรักงานนี้และอยากประกอบอาชีพพยาบาลจริงๆ ช่วงที่ทำกิจกรรมจิตอาสา เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ เพราะลูก ๆ ทำงานอยู่ต่างจังหวัดกันหมด เธอรู้สึกสงสารผู้ป่วยคนนั้นมาก
"คงไม่มีใครอยากให้พ่อกับแม่ป่วยลำพัง โดยไม่มีคนดูแลแบบนี้ แต่ด้วยภาระหน้าที่การงานที่อยู่ไกล ทำให้ไม่สามารถกลับมาดูแลพ่อแม่ได้" นั่นคือข้อคิดที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนต่อในโครงการพยาบาลชุมชน เพื่อที่มีโอกาสกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ดูแลคนในชุมชนและที่สำคัญคือจะได้ดูแลพ่อแม่ของเธอเองในยามเจ็บป่วย"
คุณหมอทานทิพย์กล่าวเสริมว่า "นอกจากนั้น เด็ก ๆ จะถูกกำหนดให้ต้องกลับไปศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของชุมชนของตนเอง เพื่อปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงาน เพราะเมื่อเรียนจบหลักสูตรและทำงานจริง นอกจากการทำงานในโรงพยาบาล พยาบาลชุนชนจะต้องจัดสรรเวลาอย่างน้อย 1 วันจาก 5 วันทำการ เพื่อลงพื้นที่ทำงานพัฒนาในด้านต่างๆ ร่วมกับชุมชน ตามแนวทาง "ใกล้บ้านใกล้ใจ" ด้วย
การลงพื้นที่และใกล้ชิดกับชุมชนทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เป็นจุดเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพของชาวบ้าน และสามารถกลับมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจัดทำโครงการช่วยส่งเสริมสุขภาพและให้ความรู้ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยได้แต่เนิ่นๆ"

นอกเหนือจากการฝึกงานอย่างเข้มข้นและเก็บข้อมูล ทำความเข้าใจกับชุมชนตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว เยาวชนที่จะได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ จะต้องผ่านเกณฑ์ด้านการศึกษา เช่น ผ่านการเรียนสายวิทยาศาสตร์ วิชาบังคับจะต้องได้เกรดตามที่กำหนด และส่วนที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน โดยการที่เด็กจะได้รับทุนหรือไม่ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหมู่บ้านด้วย
นางสาวกรรณิกา ซาหยอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสว่าง ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ผู้อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้นักเรียนที่มีจิตอาสาหลายต่อหลายรุ่น สมัครเข้าโครงการพยาบาลชุมชน กล่าวสรุปสะท้อนถึงความสำเร็จของโครงการนี้ได้เป็นอย่างดีว่า
"การดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก นอกจากการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านแล้ว พยาบาลชุมชนยังเข้ามาทำกิจกรรมให้ความรู้ ด้านต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพด้วยโครงการพยาบาลชุมชนจึงเปรียบเสมือนเป็นโครงการที่เจียระไนเพชรเม็ดงามให้กับชุมชน โดยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กลับมาดูแลคนในชุมชนทั้งทางด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต โครงการนี้ทำให้ชุมชนภาคภูมิใจ พยาบาลในโครงการพยาบาลชุมชนถือเป็นไอดอลของนักเรียนรุ่นน้อง โครงการเพื่อสังคมที่เน้นการลงทุนด้านการพัฒนาคน นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชุมชน"
เสียงสะท้อนจากชุมชนที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมของโครงการพยาบาลชุมชนที่ ปตท.สผ. เข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา ให้เยาวชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนต่อด้านพยาบาลศาสตร์ในครั้งนี้ ริเริ่มโดยมูลนิธิโรงพยาบาลอุบลรัตน์ และสนับสนุนช่วงเริ่มต้นจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จวบจนปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ซึ่งผู้บริหารสถาบันแห่งนี้มีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาของเด็กในชนบท คือ อนาคตของประเทศไทย
พยาบาลชุมชนหลายรุ่นในโครงการ ได้กลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นและบ้านเกิดของตนเอง ในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติการโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติ สินภูฮ่อมของ ปตท.สผ. เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ คือ ปัจจัยหลักในการพัฒนาคน และการพัฒนาคน คือ พื้นฐานของสังคมยั่งยืน ปตท.สผ. จึงให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนผ่านการดำเนินโครงการเพื่อสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชุมชนอย่างยั่งยืน