xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ สำรวจและพื้นฟูต้นจามจุรีทรงปลูก วาง 4 แนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการที่ต้นจามจุรี 1 ใน 5 ต้นที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงปลูกไว้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ.2505 ได้ล้มลง หลังพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562
ทางสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำรวจและตรวจหาสาเหตุการโค่นล้มลงของต้นจามจุรี ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมป่าไม้ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้พบสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นจามจุรีโค่นล้มลง เกิดจากรากบางตำแหน่งไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ เนื่องจากต้นจามจุรีเป็นไม้เนื้ออ่อน และมีอายุกว่า 57 ปีแล้ว ประกอบกับความไม่เอื้ออำนวยของลักษณะพื้นที่ในบริเวณนั้น และการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชในระดับใต้ดินที่มองไม่เห็น
นอกจากนี้ จากการสำรวจความสมบูรณ์ของต้นจามจุรีทรงปลูกจำนวน 4 ต้นที่ยังเหลืออยู่พบว่าบางต้นเริ่มมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ระยะแรกจะทำการฟื้นฟูสภาพต้นจามจุรี โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ จากเดิมที่เป็นพื้นคอนกรีต เปลี่ยนเป็นการเพิ่มพื้นที่หน้าดินให้มากขึ้น ระยะที่สอง จะฟื้นฟูระบบราก โดยการเปิดหน้าดินให้รากมีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างอิสระ โดยให้สารอาหารที่จะบำรุงรากต้นจามจุรี ควบคู่กับการค้ำยันกิ่งก้านและลำต้นด้วยวัสดุที่มั่นคงและทนทาน เพื่อเสริมความแข็งแรง ระยะที่สาม ตัดแต่งลดพุ่มกว้างของต้นไม้โดยรอบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้จามจุรีทั้งสี่ต้นนี้สามารถขยายกิ่งก้านสาขาออกได้เต็มที่ และในระยะที่สี่ หลังจากตรวจสอบว่ารากสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว จะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยการปลูกหญ้าในพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นสนามหญ้าโดยสมบูรณ์ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น