สถาบันไทยพัฒน์ เผยสถิติการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Data) ขององค์กรธุรกิจในไทย ที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) อยู่ในอันดับ 5 และเป็นรายงานที่จัดทำตามกรอบการรายงานสากล GRI (Global Reporting Initiative) ติดอันดับ 9 ของโลก
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่าความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในข้อมูลกิจการที่ต้องการมากกว่าตัวเลขผลประกอบการ ครอบคลุมถึงการดำเนินงานที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน มีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1999-2016) เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
จากตัวเลขในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจำนวน 13,893 แห่ง ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 54,776 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามแนวทาง GRI จำนวน 32,700 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายงานที่เปิดเผยผ่านฐานข้อมูล SDD ทั้งหมด และมี 237 องค์กรในประเทศไทย ที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่านรายงานรวมทั้งสิ้น 635 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2562)
โดยนับจากที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านข้อมูล (Data Partner) กับ GRI เมื่อปี พ.ศ.2559 ได้มีการปรับปรุงข้อมูลในหมวดที่เป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 - Country Tracker โดยจากเดิมประเทศไทยมีรายงานที่เปิดเผยเพียง 41 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2558 เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 108 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า) และมาเป็นจำนวน 120 เล่ม ในรอบการรายงานปี 2560 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11)
ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย มีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก
ขณะเดียวกัน การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ในประเทศไทย มีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุด อยู่ที่ 237 แห่ง ขณะที่มาเลเซียมี 156 แห่ง อินโดนีเซีย 155 แห่ง สิงคโปร์ 151 แห่ง ตามมาด้วย เวียดนาม 98 แห่ง ฟิลิปปินส์ 65 แห่ง กัมพูชา 16 แห่ง และเมียนมา 3 แห่ง ตามลำดับ
ปี พ.ศ.2562 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ GRI Data Partner จึงได้จัดตั้งเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในชื่อว่า “Sustainability Disclosure Community” ขึ้น เพื่อต้องการขับเน้นและรักษาบทบาทการเป็นผู้นำของภาคเอกชนไทย ต่อการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในประชาคมระดับภูมิภาคและระดับสากล รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนระหว่างองค์กรสมาชิก เพื่อช่วยยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในภาพรวมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
องค์กรธุรกิจสามารถเข้าร่วมมีบทบาทในการเป็นผู้นำความยั่งยืนในด้านการเปิดเผยข้อมูล ด้วยการเป็นสมาชิก Sustainability Disclosure Community (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ) โดยสิทธิประโยชน์ที่องค์กรสมาชิกจะได้รับ ได้แก่
•ได้ร่วมตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6
•ได้เผยแพร่ข้อมูลความยั่งยืนองค์กรใน GRI Sustainability Disclosure Database
•ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรสมาชิกผ่าน Webinar ตลอดปี
•ได้รับการประเมินสถานะเพื่อพิจารณารับ Sustainability Disclosure Award ประจำปี
ปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมเครือข่าย Sustainability Disclosure Community แล้วจำนวน 96 แห่ง
จุดเปลี่ยนธุรกิจไทย ใส่ใจข้อมูลความยั่งยืน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ บอกว่าการที่สถาบันไทยพัฒน์ เข้าเป็นหุ้นส่วนด้านข้อมูล หรือ Data Partner กับ GRI ในปี พ.ศ.2559 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลในส่วนที่เป็นจำนวนรายงานแห่งความยั่งยืนที่องค์กรธุรกิจไทยเผยแพร่อยู่แล้วเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยได้เลื่อนลำดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs มาอยู่ในอันดับ 5 ของโลก และลำดับการเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI มาอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
"สิ่งที่ท้าทายจากนี้ไป คือ การรักษาระดับความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลมากสุดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค การที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มจัดตั้งเครือข่าย Sustainability Disclosure Community ถือเป็นความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่สำคัญ ในอันที่จะรวบรวมและเพิ่มจำนวนองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในระดับส่วนรวมในนามของประเทศไทยที่มีชื่อติดอันดับในเวทีโลก และในระดับองค์กรที่สามารถยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามกรอบการรายงานที่สากลยอมรับ"