เนื่องจากการเรียนการสอนทางกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์จำเป็นต้องอาศัยอวัยวะจริงของสัตว์ เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างของอวัยวะภายใน อย่างไรก็ตาม การใช้อวัยวะจริงของสัตว์ที่ได้รับบริจาคจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลังจากที่สัตว์เสียชีวิตลงก็มีข้อจำกัดตรงที่ “สัตว์ที่ได้รับบริจาคมีจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้เรียนจำนวนมาก” รวมถึงสภาพอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ที่ได้รับบริจาคอาจมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ การหาสื่อการเรียนการสอนมาใช้แทนอวัยวะสัตว์จริงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะ ได้พัฒนา ”สมองสุนัขจำลอง” เป็นสื่อการเรียนการสอนใหม่ในห้องปฏิบัติการ ทดแทนสมอง สุนัขจริง เนื่องจากสมองสุนัขจริงมีขนาดเล็ก หายาก และเป็นอวัยวะที่เน่าเร็วมาก รวมทั้งมักเกิดความเสียหายจากการเรียนในแต่ละครั้ง และอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคติดเชื้อสู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้าได้ สมองสุนัขจำลองที่ได้พัฒนาขึ้นนี้เป็นผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นโดยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงประเภท Teaching methods and materials จากการประชุมวิชาการนานาชาติ The 47th International Exhibition of Inventions Geneva ณ สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
“สมองสุนัขจำลองผลิตจากกระดาษข้อสอบ กระดาษเหลือใช้ในสำนักงาน แกนกระดาษชำระ และกล่องนม เป็นสื่อการสอนที่ลดขยะบนโลกใบนี้ มีน้ำหนักเบา ทนทาน สามารถใช้งานได้นาน” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เผยถึงจุดเด่นของนวัตกรรมชิ้นนี้
กระบวนการผลิตสมองสุนัขจำลองเริ่มจากการนำกระดาษที่เหลือใช้แล้วมาย่อยจนเหลือเยื่อกระดาษ นำมารวมกับส่วนผสมที่เป็นแป้ง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า paper mache ขนาดของสมองสุนัขจำลองจะใหญ่กว่าสมองสุนัขต้นแบบหนึ่งเท่า มีความทนทาน สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนเพื่อให้เห็นโครงสร้างทางกายวิภาคได้อย่างชัดเจน โดยมีการฝังแม่เหล็กไว้ภายในชิ้นส่วนทั้ง 5 ชิ้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยังไม่มีใครใช้มาก่อน ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการทำให้ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นประกบกันได้พอดี นอกจากนี้ยังมีการทาสีสมองสุนัขจำลองให้เหมือนสมองสุนัขจริง ทำให้นิสิตอยากสัมผัสมากขึ้น รวมทั้งไม่มีกลิ่นสารเคมี เช่น น้ำยาฟอร์มาลีน ที่ช่วยให้สมองสุนัขจริงอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
“แม้จะพัฒนาสมองสุนัขจำลองขึ้นมาใช้ในการเรียนการสอน แต่สมองสุนัขจริงก็ยังมีความจำเป็นต่อนิสิตในการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ เนื่องจากนิสิตยังต้องฝึกฝนทักษะในการผ่าตัดชำแหละเพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างอวัยวะในร่างกายสัตว์ และความสัมพันธ์ของตำแหน่งหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ”
ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และยังคงพัฒนาผลงานทั้งสมองสุนัขและหัวสุนัขจำลองเพื่อให้นิสิตได้ใช้อย่างเพียงพอและจะต่อยอดในการพัฒนาตาสุนัขจำลอง และอวัยวะจำลองในส่วนของสัตว์ใหญ่ เช่น หัวม้า อวัยวะสืบพันธุ์ เต้านม ฯลฯ