xs
xsm
sm
md
lg

Zero-waste cup “ลดขยะพลาสติก” เลือกแก้วนี้ดีต่อโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กว่าจะมาเป็น zero-waste cup มาจากความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ และโครงการ Chula zero waste ที่ร่วมกันพัฒนาให้ได้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ 100% (ในสภาวะปุ๋ยหมักที่ใช้เวลาเพียง 4-6 เดือน) เพื่อให้ใช้แทนแก้วพลาสติก
อยู่ในหนึ่งจากการประกาศมาตรการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือขอให้ร้านค้าในโรงอาหารเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกเดิมเป็นแก้วใช้ล้างซ้ำได้ หรือเลือกใช้ zero-waste cup เพราะการจัดการขยะประเภทแก้วพลาสติกใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ
แต่ก็มีอุปสรรคด้วยมูลค่าแก้ว zero-waste ที่สูงกว่าแก้วพลาสติกทั่วไป แลกมาด้วยการจัดการขยะแบบครบวงจร ที่กว่า 1 แสนใบที่ชาวจุฬาฯ ใช้กันโดยเฉลี่ยใน 1 ปี จะไม่เหลือสิ่งตกค้างในธรรมชาติแน่นอน เพราะโครงการมีถังขยะแยกเฉพาะแก้ว zero-waste โดยจะมีพี่แม่บ้านใจดีประจำโรงอาหารคอยดูแลไม่ใช่มีสิ่งอื่นปลอมปน และก็ถูกลำเลียงออกโดย สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะส่งไปทำปุ๋ยหมักที่จังหวัดสระบุรี
ปุ๋ยที่ได้ไม่ได้ไปไหนเมื่อเวลาผ่านไปปุ๋ยจากแก้วที่ย่อยหมดจด ณ สระบุรี ก็จะวกกลับมาเมืองกรุง ใช้บำรุงต้นไม้ในพื้นที่ของจุฬาฯ นั่นเอง

คุณสมบัติของแก้ว zero-waste จึงเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวเพราะ
1. ตัวแก้วผลิตจากกระดาษชนิดพิเศษที่สามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าแก้วกระดาษทั่วไป
2. พลาสติกชีวภาพที่เคลือบด้านในเป็นประเภท PBS ได้มาตรฐานปุ๋ยหมักระดับครัวเรือน(ในอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส) ซึ่งผลิตจากพืชระยะสั้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด
3.ใช้หมึกพิมพ์น้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) ไม่เหลือสารเคมีตกค้าง
แต่เป็นแค่ปุ๋ยก็ง่ายเกินไป แก้ว zero-waste ยังสามารถนำไปใช้ซ้ำแทนถุงเพาะชำต้นไม้ได้อีกด้วย ประเภทต้นไม้ที่เหมาะจะใช้คือการเพาะต้นอ่อนที่ใช้ระยะเวลา 7-14 วัน ก่อนจะย้ายเอาต้นกล้าไปปลูกลงดินเพราะแก้ว zero-waste ย่อยไวมากถ้าโดนน้ำมาก หรือวางไว้กับดิน เช่นต้นอ่อนทานตะวันหรือต้นอ่อนถั่วลันเตา(โต๋วเหมี่ยว) แน่นอนว่าสามารถลงได้ทั้งแก้วแถมเมื่อถึงเวลาย่อยสลายแล้วก็ยังเป็นสารปรับปรุงดินในตัวด้วย
ถ้าหันมาช่วยกันใช้แก้วที่ย่อยสลายได้ทดแทน ขั้นต่อไป อยากให้ทุกคนลดการใช้หลอดพลาสติก หรือพกแก้วส่วนตัวมาใช้ในโรงอาหารของจุฬาฯ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะ แถมได้ส่วนลดอีก 2 บาท 
ข้อมูลอ้างอิง www.chulazerowaste.chula.ac.th/zero-waste-cup


กำลังโหลดความคิดเห็น