xs
xsm
sm
md
lg

หลอดพลาสติกล้นโลก แก้ยาก!! ถ้ากม.ไม่บังคับ พ่อค้า-แม่ค้า คงจะตระหนักรักษ์โลกยากนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครดิตภาพ : Green peace
ปัญหาขยะหลอดพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก เพราะเป็นขยะพลาสติกอันดับต้นๆ ทั้งบนบกและตกลงสู่ทะเล เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ เนื่องจากส่วนใหญ่ของหลอดพลาสติกไม่ถูกนำมารีไซเคิล! ถึงแม้มีการรณรงค์ให้เปลี่ยนไปใช้เป็นหลอดกระดาษ หรือหลอดที่นำมาจากธรรมชาติซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หลายคนคงจำข่าวที่น่าสลดใจได้ เมื่อหลอดพลาสติกไปติดอยู่ในจมูกเต่า ทำให้เขาดูทรมานมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องมือเพื่อดึงเอาออกมา แล้วที่ไม่ได้พบสภาพนี้ล่ะ น่าจะยังมีอีก นักสิ่งแวดล้อมเห็นสภาพแล้วก็ขอร้องให้ช่วยกันเลิกใช้เหอะ หลอดพลาสติก พอกันที!
เมื่อหันมองสถานการณ์ในบ้านเรา…การรณรงค์ให้เลิกใช้หลอดพลาสติกโดยสมัครใจเริ่มก่อตัวชัดขึ้นในช่วงราว 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจ
กลุ่ม ReReef กับเครือข่ายร้านกาแฟและร้านอาหารหัวใจสีเขียว (Green Cafe Network) ริเริ่มขบวนการงดหลอด Straws on Request โดยร้านที่เข้าร่วมขบวนการต้องเปลี่ยนจากเสิร์ฟเครื่องดื่มพร้อมหลอดแบบเดิมๆ มาเป็นแจกหลอดแก่ลูกค้าที่แจ้งความต้องการเท่านั้น
อีกกลุ่ม greenery.org ที่ชักชวนใครๆ มามอบของขวัญให้โลกตั้งแต่ต้นปี โดยกำหนดภารกิจท้าทายเดือนละ 1 ภารกิจ ให้ผู้สนใจร่วมลงมือทำและแบ่งปันเรื่องราวผ่านกลุ่ม Greenery Challenge ในเฟซบุ๊ก เริ่มเดือนมกราคม รับปีใหม่ด้วย ‘ขวดเดียวแก้วเดิม’ ซึ่งแม้จะเน้นที่การพกกระติกหรือแก้วน้ำส่วนตัวเพื่อลดขยะขวดน้ำพลาสติกและแก้วพลาสติกจากการซื้อเครื่องดื่มในแต่ละวัน ยังต้องแถมพ่วง #ไม่หลอดเนาะ เข้าไปด้วยเพื่อลดขยะหลอดพลาสติกได้อีกชิ้น พร้อมกับเสนอสารพัดหลอดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นทางเลือก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดไว้อยู่แล้วว่ามาตรการบังคับคงเกิดขึ้นได้เร็วๆ นั้นยากนัก เพราะประเทศไทยเลือกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางประนีประนอมมาตลอด การรอคอยให้รัฐออกกฎหมายแล้วประชาชนค่อยขยับปฏิบัติตาม จึงดูไม่เข้าท่านักกับวิกฤตขยะพลาสติกขณะนี้
ทั้งจากผลสำรวจโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจียที่ระบุว่า ประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และจากผลการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งรายงานการจำแนกขยะในทะเลว่า พบหลอดพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 รองจากถุงพลาสติก (ร้อยละ 10)
นอกจากเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลโดยตรงแล้ว พลาสติกที่ลอยเท้งเต้งในน้ำเค็มนานๆ ยังสลายตัวเป็น ‘ไมโครพลาสติก’ หรือเศษพลาสติกขนาดจิ๋วเกินกว่าสายตาเราจะมองเห็น จากนั้นก็เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านทางแพลงค์ตอน กุ้ง ปลา ตามลำดับขั้นการกิน
คำเตือนอันตรายต่อมนุษย์มากขนาดนี้ แต่คนเราก็ยังลด เลิกใช้หลอดพลาสติกไม่ได้ ในเรื่องนี้ในทางกฎหมายก็คงคล้ายกับการบังคับสวมหมวกกันน็อกในการขับขี่มอเตอร์ไซค์ กม.มีบังคับ แต่ตำรวจไม่จับ คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเลือกเอาความสบายหัวมาก่อนหัวน็อกพื้น
กับอีกสาเหตุสำคัญ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลอดพลาสติก ด้วยความเคยชินติดหลอด โดยเฉพาะหลอดกระดาษที่พัฒนามาเป็นทางเลือกที่ใกล้เคียงกับหลอดพลาสติก แต่ทุกวันนี้ยังมีใช้กันน้อยเนื่องจากราคาที่แพงกว่าถึง 4 เท่าตัว แต่ยังเชื่อว่าจะเป็นตัวตายตัวแทนหลอดพลาสติกในอนาคตอันใกล้นี้
การใช้หลอดกระดาษ มีโอกาสสูงเป็นทางเลือกทดแทนได้ แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ราคาแพงกว่าหลอดพลาสติกถึง 4 เท่าตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น