xs
xsm
sm
md
lg

ทส.รณรงค์เข้มก่อนขีดเส้น! “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ปี 2565

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ออกมาแถลงว่าคนไทยให้ความร่วมมือในการลดใช้ถุงพลาสติก ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมากกว่า 1,300 ล้านใบ และเร็วๆ นี้ จะรณรงค์กับกลุ่มแม่บ้าน พร้อมเร่งใช้นวัตกรรม มาผลิตบรรจุภัณฑ์ใช้ทดแทนโฟมและพลาสติก ยันเล็งเลิกใช้แน่ พลาสติกหูหิ้ว (ถุงพลาสติกที่มักใช้ครั้งเดียวทิ้ง) กล่องโฟม และหลอดพลาสติกในปี 2565 ตามโรดแมป

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาหลังจากรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ประเทศไทยประสบผลสำเร็จจนเป็นที่น่าพอใจ เมื่อสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในตลาดสด และในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อได้ 1,300-1,500 ล้านใบ หรือคิดเป็นประมาณ 2,686 ตัน
ส่วนโฟมลดลงครึ่งหนึ่งจากปริมาณการใช้ทั้งประเทศหลังผู้ประกอบการและผู้ผลิตโฟมหันมาใช้ชานอ้อย เข้าสู่กระบวนการผลิตจำหน่ายแทนโฟม จึงเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้โฟมในการจับจ่ายสินค้าในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศอย่างจริงจังมากขึ้น
“จากการสำรวจพบผู้หญิงใช้ถุงพลาสติก มากกว่าผู้ชายในการซื้อของและกับข้าว เราจึงเตรียมจะรณรงค์ให้กลุ่มแม่บ้านลดใช้ถุงพลาสติกลง แล้วใช้ถุงผ้าแทนมากขึ้น” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
ซึ่งภายหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการของหน่วยงาน ทั้งการลดและเลิกใช้พลาสติก โดยใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปีนี้ จะเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ่ และพลาสติกผสมสารไมโครบีท
“ส่วนในปี 2565 ก็จะเลิกใช้ อีก 4 ชนิด เฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) คือ 1.พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3.หลอดพลาสติก ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นต้องใช้สำหรับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย และ 4.แก้วพลาสติกแบบบาง ประเภทใช้ครั้งเดียว”
นอกจากนี้ จะเดินหน้าเน้นการใช้นวัตกรรม มาผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ทดแทนโฟมและพลาสติก โดยต้องไม่มีส่วนผสมของสารเคมี ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นในการที่ประเทศไทยจะเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งยังถือเป็นความท้าทายของไทยและในฐานะประธานอาเซียนของไทยปีนี้ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมสรุปผลการดำเนินงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้า โครงการ "ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ให้ทุกส่วนราชการดำเนินการลดการใช้ถุงพลาสติก ณ ห้องประชุมกรรณิการ์ และห้องประชุมราชาวดี ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ประชุมสรุปผลการดำเนินงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้า โครงการ ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุ : เพจ Rereef บอกเป็นข่าวดี หากคิดปริมาณการลดถุงพลาสติกไปได้ 1,300 ล้านใบ เมื่อครบ 1 ปีเต็ม (12 เดือน) ก็น่าจะลดลงเกือบ 2,000 พันล้านใบ แต่ถ้าคิดว่าคนไทยใช้ถุงพลาสติกปีละ 4.5 หมื่นล้านใบ (ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ) นั่นเท่ากับลดลงไม่ถึง 5%
นี่คือความเป็นจริงของการรณรงค์และขอความร่วมมือ ซึ่งก็คงอดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่จุดนี้รัฐต้องขยับไปใช้กลไกอื่นควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การคิดเงินค่าถุงพลาสติก (เพื่อนำไปใช้จัดการขยะในชุมชน ถุงละ 2 บาทพิสูจน์แล้วว่าได้ผลมาก) ซึ่งจะทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้ลงได้อย่างชัดเจนถึง 70-80% ในทุกๆประเทศ
ล่าสุดคือออสเตรเลีย ก็ลดลงไป 80% เช่นกัน ข่าวออสเตรเลียลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 80% ในเวลาเพียง 3 เดือน (ข้อมูลจากซูเปอร์มาร์เก็ต) https://www.ecowatch.com/australia-plastic-bag-ban-26222803…
ลองคิดกันดูว่าถ้าประเทศไทยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้ 80% นั่นคือเอาถุงพลาสติก 3.6 หมื่นล้านใบต่อปีออกจากกองขยะ!!
อย่างไรก็ยังเอาใจช่วย และอยากเห็นมาตรการตาม Road Map ที่จะเลิกใช้พลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟม และหลอดพลาสติกในปี 2565 ยิ่งออกมาเร็วผู้ประกอบการและผู้บริโภคก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น