อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาโครงการสร้างเสร็จระดับใหญ่ จาก World Landscape Architecture Awards 2019 (WLA) ซึ่งมีการส่งสิ่งก่อสร้างเข้าร่วมในการแข่งขันนี้มากกว่า 175 โครงการจากทั่วโลก
ถือว่าเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สวนสาธารณะ แต่ยังถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสวนสาธารณะที่ช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กรุงเทพฯ พร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงของอากาศด้วย ซึ่งอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นี้ถือเป็นหลังคาสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ลองตามไปชมความเป็นมา และแนวคิดในการออกแบบ
ที่มา : อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แห่งใหม่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อมอบเป็น “ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม” บน พื้นที่ประมาณ 29 ไร่ ในเขตสวนหลวง - สามย่าน และมีถนน 100 ปี จุฬาฯ (จุฬาลงกรณ์ ๕ เดิม) เชื่อมถนนพระราม 1 - พระราม 4 เพื่อให้เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวเพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่เปิดสำหรับกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมมากมาย โดยที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพ กิจกรรมทางดนตรี และศิลปวัฒนธรรมร่วมกับหลายหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมอีกด้วย
แนวคิดในการออกแบบ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
•ตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนรวม
•การจัดการพื้นที่สีเขียว พื้นที่ประมาณ 29 ไร่ บริเวณพื้นที่สวนหลวง - สามย่าน ซึ่งกำหนดให้เป็น “ที่โล่งว่าง” ต่อเนื่องกับแนวแกนหลักสีเขียวในเขตการศึกษา (แกนตะวันตก-ตะวันออก) และมีถนน 100 ปี จุฬาฯ (จุฬาลงกรณ์ 5 เดิม) เชื่อมถนนพระราม 1 - พระราม 4 สร้างความต่อเนื่องของกิจกรรม การใช้ประโยชน์พื้นที่มหาวิทยาลัยกับชุมชน
•การเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ
มีความยืดหยุ่นสูงต่อการใช้งานของผู้คนขนาดกลุ่มต่างๆ เชื่อมต่อแนวแกนสีเขียว ตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัยจากเขตการศึกษาขยายสู่ฝั่งตะวันตก
•ใช้พืชพรรณพื้นถิ่นหลากหลายชนิด ปลูกแบบธรรมชาติในแนวคิดป่าในเมือง (Urban forestry) ต้นแบบสวนสาธารณะในสถานะพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง เพิ่มพื้นที่น้ำซึมดิน
สามารถดูรายละเอียดอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ได้ที่ http://www.pmcu.co.th/?page_id=9921 และดูผลการประกวดด้านต่างๆ ที่ https://worldlandscapearchitect.com/2019-wla-awards-winners-announced