เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปขับเคลื่อนการแผนแม่บทพัฒนาดิจิทัล ขององค์กรสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ.ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
หลักการใหญ่คือการจัดการให้เกิด Digital Transformation ในการบริหารจัดการสวนสัตว์ของประเทศไทย และเมื่อพูดถึงคำว่า Digital Transformation ในที่นี้ ผมอยากใช้คำแปลภาษาไทยว่า คือการ “ปรับเปลี่ยน” ดิจิทัล
ซึ่งมีหลายคนอาจจะพยายามใช้ศัพท์ที่ดูน่าตื่นเต้น เช่น “ก่อกวน” “ปั่นป่วน” “ทำลาย” แต่ผมเลือกที่จะใช้ศัพท์ง่ายๆ ฟังสบายๆ
ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนดิจิทัลได้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ของโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ตามเหตุปัจจัยหลายประการ ที่เราไม่อาจควบคุมได้ กระแสคลื่นใหญ่ที่เร่งรัดการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันมีอยู่เพียง 3 ประการ คือ 1) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศ และ 3) การเปลี่ยนขั้วอำนาจและสังคมการเมือง
และเรามักจะได้ยินผู้คนมากหลายต่าง ออกมาพูดถึงการปรับเปลี่ยนดิจิทัล กันอย่างสนุกปาก ฟังดูเหมือนเรามีผู้รู้อยู่มากมาย แต่ที่จริงยังไม่มีใครที่รู้ได้แน่นอนว่าโลกจะเปลี่ยนไปเป็นเช่นไร จึงขอยกคำคมอมตะที่กล่าวว่า
DIGITAL TRANSFORMATION IS A JOURNEY, NOT A DESTINATION.
และถึงเราจะยังไม่รู้เป้าหมายสุดท้าย แต่เราก็ต้อง ”ปรับ” ตัวไปเรื่อยๆ จนถึงความพร้อมที่จะ “เปลี่ยน” ในเมื่อเวลามาถึง ดังนั้นทุกองค์กรในประเทศไทยจะต้องทำการปรับเปลี่ยนดิจิทัลกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ แม้แต่ภาคสังคมก็ตาม
การปรับเปลี่ยนดิจิทัลขององค์กรนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกองค์กรมีบริบทไม่เหมือนกัน การนั่งฟังความสำเร็จขององค์กรที่เป็น “DIGITAL NATIVE” อย่างเช่น Google, Alibaba, Amazon,… นั้นอาจจะไม่ช่วยอะไร เพราะไม่ได้อะไรที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของเราเลย เนื่องจากบริบทแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สิ่งที่สำคัญในการเริ่มต้นการปรับเปลี่ยนดิจิทัล ซึ่งแป็นการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร คือการทำความเข้าใจองค์กรของเราภายใต้บริบทดิจิทัลที่เกี่ยวพันกัน ขอย้ำนะครับ “ที่เกี่ยวพันกัน” ซึ่งนับได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เนื่องด้วยการปรับเปลี่ยนดิจิทัลนั้น ก้าวเข้าไปสู่ทุกวงการ ในลักษณะที่แตกต่างกัน
ประเด็นสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนดิจิทัลนั้น “ไม่ใช่” เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการ “ปรับเปลี่ยน”
ยกตัวอย่างให้ชัดเจนนะครับ การลงทุนทางเทคโนโลยี พันล้าน หรือหมื่นล้าน ก็ไม่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนดิจิทัลขึ้นมาได้ ถ้าองค์กรขาดการปรับเปลี่ยน “คุณค่า วิสัยทัศน์ วัฒนธรรม ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย ระบบงาน โครงสร้างองค์กร และความสามารถของบุคลากร” กล่าวง่ายๆ คือ ตั้งแต่หัวจรดท้ายเลยครับ
เทคโนโลยีเป็นเพียง “ENABLER” หรือในภาษาไทยให้ดูง่ายก็ตือ เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้ฝันเป็นจริง อะไรที่ไม่เคยทำได้ ก็ทำขึ้นมาได้ อะไรที่ไม่เคยคิดได้ ก็บรรลุขึ้นมาเสียเฉยๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะมีจุดชวนสงสัยอยู่หลายประการ แต่อย่าลืมว่า การเปลี่ยนแปลง ได้มาอยู่ที่หน้าประตูบ้านคุณแล้วครับ “ตลาด” ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ลูกค้าที่เคยจงรักภักดีต่อคุณ ต่างมีทางเลือกใหม่ๆ ที่พร้อมบริการได้เร็วกว่าและถ้าคุณไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอ คุณอาจจะพบว่าธุรกิจของคุณเสื่อมสลายไปโดยใช้เวลาไม่นาน
และเมื่อเจาะลึกลงไป คำว่าการปรับเปลี่ยนดิจิทัล มักจะควบคู่กับคำว่า “DISRUPTION” คำนี้ฟังดูน่ากลัวครับ เพราะดูเหมือนจะต้อง “ทุบทิ้ง” สิ่งที่เรามีอยู่ และทำให้เราไม่ขยับเขยื้อนไปไหน
แต่ที่จริงการปรับเปลี่ยนดิจิทัลนั้น มีแนวทางใหญ่ 4 ประการครับ ขึ้นอยู่กับบริบท และการกำหนดวิสัยทัศน์ของเราไปข้างหน้า
4 ประการที่ว่า มี DISRUPTION, CONVERGENCE, REINVENT, REVITALIZATION
DISRUPTION หรือ การ “ทุบทิ้ง” ซึ่งเป็นที่ได้ยินได้ฟังมากที่สุด เพราะฟังแล้วตื่นเต้นดี การทุบทิ้งนั้น เกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายนอก เช่นคู่แข่งใหม่ที่มาจากวงการอื่น เกิดแนวคิดในการใช้เทคโนโลยี “ทุบทิ้ง” ธุรกิจเรา โดยแทรกหรือแย่งตลาดของไป หรืออาจจะเกิดจากปัจจัยภายใน ที่เราเองเห็นว่าธุรกิจเดิมไปไม่รอด จึงทุบทิ้งตัวเอง โดยอาจจะเข้าไปในตลาดอื่น หรือย้ายลูกค้าของเราไปในตลาดใหม่ หรือบางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำอะไรอยู่ เหตุเกิดจากการไม่ทำการบ้านในการกำหนดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ อันนี้ก็เหมือนการไปตายเอาดาบหน้า
CONVERGENCE หรือการ “ควบรวม” เป็นแนวคิดในยุคต้นๆ ที่กล่าวถึงกันมาก แต่โดน DISRUPTION แซงหน้าไป กล่าวถึงการควบรวมในระดับของเทคโนโลยี ทำให้เกิดศักยภาพใหม่ๆ ทั้งนี้ในตลาดอาจจะมีการใช้คำว่า COLLABORATION ซึ่งหมายถึงเรื่องเดียวกัน แต่เน้นที่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เราแปลได้ว่าเป็นความ “ร่วมมือ” กัน ในขณะที่คำว่า “ควบรวม” จะมีความหนักหน่วงกว่า คือการเปลี่ยนรูปแบบขององค์กก ให้ทำงาน เป็นเนื้อเดียวกันได้มากขึ้น
REINVENT หรือการ “สร้างซ้ำ” ในการสร้างซ้ำนี้ เรายังคง คุณค่า หรือวิสัยทัศน์ไว้ ภายใต้ Business Model เดิม แต่เปลี่ยนบริบทใหม่ ทั้งนี้เรามั่นใจว่าโมเดลธุรกิจของเรานั้น จะยังคงสร้างคุณค่าได้ภายใต้บริบทใหม่ และต้องค้นหาสิ่งนี้ให้พบ ไม่เช่นนั้นการ “สร้างซ้ำ” อาจจะเป็นการขุดหลุมพรางให้กับตัวเองก็ได้ เงินลงทุนในการ “สร้างซ้ำ” ก็ใกล้เคียงหรืออาจจะมากการการ “ทำใหม่” เลยก็ได้
REVITALIZATION หรือการ “สร้างความสำคัญใหม่ให้กับคุณค่าเดิม” ทั้งนี้เราอาจจะไม่เปลี่ยนอะไรมาก แต่การสร้างความสำคัญใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการสื่อสารกับลูกค้าและตลาดใหม่ สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ ควรจะมีคุณค่าที่สำคัญภายใต้บริบทใหม่ ในทางสังคมมีศัพท์อยู่คำหนึ่งว่า NOSTALGIA หรือ “การหวนคืนความหลังครั้งวันวาน” ซึ่งหมายถึงการรื้อฟื้นอดีตที่ควรแก่การจดจำ อย่างไรก็ตาม “การหวนคืน” นั้นมักจะได้ผลในระยะเวลาจำกัด ขณะที่การ “สร้างความสำคัญใหม่” ควรจะต้องได้ผลในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า เพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวันข้างหน้า
เอาล่ะครับ สำหรับครั้งนี้เป็นภาพกว้าง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสจะได้ลงลึกในยุทธศาสตร์และการลงมือปฏิบัติสำหรับการปรับเปลี่ยนดิจิทัลที่ดีต่อไป
ดร.ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ
ประธานผู้ก่อตั้ง know-edge.org