xs
xsm
sm
md
lg

ทส. เสนอ Roadmap ครม. “ลด ละ เลิกใช้พลาสติกในไทย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศรับทราบ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 แล้วในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี
เนื่องจากปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกเร่งแก้ปัญหา รวมถึงประเทศไทยแต่ละปีสร้างขยะพลาสติกปีละ 2 ล้านตัน นำมารีไซเคิลได้ 0.5 ล้านตัน อีก 1.5 ล้านตัน นำไปฝังกลบหรือปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอร่าง Roadmap การจัดการพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ สรุปเป้าหมายหลักเพื่อลดและเลิกการใช้พลาสติก รวมถึงการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนี้
ในปี 2562 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ 1) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ (Oxo) และ 3) ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead)
และปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3) แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) 4) หลอดพลาสติก
ส่วนปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100%
ทั้งนี้ เรื่องการจัดการพลาสติกเริ่มประชุมในครม. มา ตั้งแต่ 17 เม.ย. 2561 ครม.สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ทส. กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมเพื่อลดใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ขณะเดียวกันต้องสร้างมาตรการจูงใจให้บริษัท ผู้ประกอบการต่างๆ ลดปริมาณการใช้พลาสติก โดยยกให้หน่วยงานหลักเป็นกระทรวงพาณิชย์และ ทส. กระทรวงการคลัง ฯลฯ ทำงานร่วมนะรวมทั้งการสนับสนุนให้เกิด R&D เพื่อพัฒนาวัสดุทดแทนที่ดีต่อธรรมชาติ หรือ พัฒนาให้วัสดุต่างๆ ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น หลังจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจพลาสติกและผู้บริโภคคงต้องปรับตัวกัน
โดยกำจัดพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลอย่างถูกวิธีแบ่งเป็น 3 มาตรการ
มาตรการ 1.มาตรการลดการเลิกขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มาตรการที่ 2. ลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยขับเคลื่อนการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
มาตรการที่ 3. จัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยจะมีการส่งเสริม สนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่การนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หากเราสามารถทำตามโรดแมปที่วางไว้ได้ คาดว่าเราจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดการกับขยะมูลฝอย ได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี และจะประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอย พลาสติก โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 2,500 ไร่
คาดสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ 1.2 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า ถ้านำพลาสติกไปเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ หรือสามารถประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ โดยประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านล้านบีทียู หรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท
"ขยะทะเล ทะเลเต็มไปด้วยขยะ ถึงเวลาที่เราจะต้อง ลด ละ เลิก พลาสติกที่ไม่จำเป็น และขยะพลาสติก ต้องจัดการให้ถูกต้อง โดยไม่ทิ้งลงแหล่งน้ำ ผมว่าพวกเราได้เวลาเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Stop Single-use Plastic) เพื่อทะเล เพื่อชีวิต ไม่เช่นนั้นในปี ค.ศ. 2050 ขยะพลาสติก จะมากกว่าปลาในทะเล เสียอีก ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแล"


กำลังโหลดความคิดเห็น