โครงการ”วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม” สมทบทุนโรงพยาบาลขอนแก่น 15 ล้านบาท เปิดตัว “ศูนย์รักษ์เต้านม” อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์เฉพาะทางด้านการดูแลวินิจฉัยและบำบัดโรคมะเร็งเต้านมแบบครบวงจรแห่งแรกในภาคอีสาน ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านม
นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยใหม่มากขึ้นทุกปี การเปิดศูนย์รักษ์เต้านมครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีทั้งสำหรับชาวขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสาน ซึ่งจะได้เข้าถึงบริการตรวจรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมได้อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นศูนย์กลางกระจายความรู้ในการดูแลสุขภาพสู่ชุมชนโดยรอบอีกด้วย เป็นการป้องกันโรคตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ คือให้ความรู้ตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็งและดูแลรักษาจนถึงระยะสุดท้าย ที่ผ่านมา ทางรพ.ได้ส่งทีมลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ วิธีสังเกตสัญญาณอันตรายของมะเร็งเต้านม วิธีตรวจเต้านมด้วยการคลำ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม ไปพร้อมๆ กับรณรงค์ให้สตรีชาวอีสานกลุ่มเสี่ยงทุกช่วงอายุเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพเต้านมเป็นประจำ
ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ อดีตนายกสมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการระดมทุน กล่าวว่า ศูนย์รักษ์เต้านมแห่งนี้เกิดขึ้นได้จากความทุ่มเทและความร่วมมือจากหลายฝ่ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องการให้ความเจริญด้านการแพทย์กระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และสร้างความสุขแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนนำโดยโครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม โครงการเพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงานของวาโก้ ที่ได้ร่วมสมทบทุน 15 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ และในโอกาสวันเปิดศูนย์รักษ์เต้านม วาโก้ยังมอบชุดชั้นใน Balancing Bra และหมวกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรวมมูลค่า 255,000 บาท ทำให้บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ครบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“ขอนแก่นถือเป็นเป้าหมายแรกที่เราเลือกและทำได้สำเร็จ ทำให้โรงพยาบาลขอนแก่นมีศูนย์มะเร็งเต้านมที่ให้บริการด้านตรวจรักษาที่ครบวงจรมากที่สุดในภูมิภาคอีสาน ในอนาคตเรายังมีแผนที่จะขยายโมเดลการพัฒนาด้านสาธารณสุขเช่นนี้ต่อไปยังภาคเหนือด้วย โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หากทำได้สำเร็จ ความหวังที่จะช่วยให้ผู้หญิงไทยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคมะเร็งเต้านมก็คงไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป”