xs
xsm
sm
md
lg

5 คำตอบที่ควรรู้เรื่องขวด PET

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



PET คืออะไร?

PET ย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate เป็นสารประกอบที่เกิดจากการสังเคราะห์โดยปฏิกิริยาเคมีระหว่าง เอทิลีนไกคอล ซึ่งผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และกรดเทเรฟทาลิกบริสุทธิ์ (PTA) ซึ่งผลิตจากน้ำมันดิบPET มีความเหนียว ทนทาน ยืดหยุ่นต่อแรงกระแทกและสามารถนำมาขึ้นรูปได้หลากหลาย จึงนิยมนำมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์รวมทั้งสิ่งทอ ซึ่งมักถูกเรียกว่า โพลีเอสเตอร์ (Polyester) ดังนั้น PET และโพลีเอสเตอร์จึงเป็นวัสดุชนิดเดียวกัน PETสามารถนำกลับมารีไซเคิล เป็นเส้นใยหรือขวดใหม่ได้ นอกจากนี้ PETยังได้รับความนิยมเนื่องจากมีความใสใกล้เคียงกับขวดแก้ว แต่มีน้ำหนักเบา ไม่แตกเป็นอันตราย ราคาถูกกว่าและรีไซเคิลได้ง่ายมาก

PET ปลอดภัยหรือไม่?

โดยปกติสารที่จะถูกปลดปล่อยจากภาชนะบรรจุมักเป็นสารที่มีโมเลกุลต่ำหรือระเหยได้ สำหรับ PET ที่ใช้บรรจุอาหารนั้นจะมีน้ำหนักโมเลกุลสูง จึงมีโอกาสน้อยที่จะปลดปล่อยที่เป็นส่วนประกอบออกมา โดยสถาบันระดับโลกหลายแห่งได้ออกมายืนยันความปลอดภัยในการใช้ขวด PET อาทิ สมาคมพลาสติกสหรัฐอเมริกา (The American Plastics Council) องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) และองค์กรด้านความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety Authority) แห่งประเทศนิวซีแลนด์ ยืนยันว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขวด PET ไม่มีสาร DEHA (Diethyl Hydroxylamine) ซี่งเป็นสารก่อมะเร็งเป็นสารประกอบ และขวด PET ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหาร สอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสหรัฐอเมริกา (Institutional Life Science Institute) ที่กล่าวว่าระดับความเป็นไปได้ที่สารปนเปื้อนจะแพร่ออกจากขวด PET ต่ำกว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัยที่กำหนดไว้ และมีปริมาณของสารปนเปื้อนต่ำกว่าระดับที่จะก่อให้เกิดผลทางพิษวิทยา

ทิ้งขวด PET ตากแดดไว้นานๆ เป็นอันตรายจริงหรือ?

PET สามารถทนต่ออุณหภูมิได้ไม่เกิน 70-100 องศาเซลเซียส และขวดน้ำดื่ม PET ได้ผ่านการรับรองจากองค์กรอาหารและยาสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลทางวิชาการที่มีการวิจัยและเผยแพร่พบว่า ไม่พบสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในขวดน้ำดื่ม PET ที่ทิ้งไว้ในรถ เนื่องจาก PET เป็นพลาสติกชนิดที่ไม่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าขวดพลาสติก PET มีความปลอดภัยแน่นอน

สาร BPA มีในขวด PET หรือไม่?

ขวดน้ำดื่ม PET ปลอดภัยและไม่มีสาร BPA (Bisphenol A) ปนเปื้อน BPA เป็นสารที่พบในพลาสติกประเภทขวดขุ่นเท่านั้น ที่สำคัญคือสาร BPA ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่หากมีการปนเปื้อนเกิดขึ้นจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของร่างกาย

ขวด PET ใช้ซ้ำๆ เป็นมะเร็งจริงหรือ?

โดยทั่วไปแล้วขวดพลาสติก PET มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตามขวด PET สามารถนำมาใช้ได้อีก แต่ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งและทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนที่จะนำมาบรรจุน้ำใหม่ทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียภายในปากที่อาจปนเปื้อน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตในขวดน้ำได้ดี ที่สำคัญต้องสังเกตให้ดี หากขวดเริ่มมีรอยขูดขีด หรือเนื้อพลาสติกเปราะแตก แสดงว่าพลาสติกเริ่มมีการเสื่อมสภาพ ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำอีก



กำลังโหลดความคิดเห็น