อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในมหาวิทยาลัย ปลอดโฟมและถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable งดแจกถุงพลาสติกฟรีทุกร้านค้าทั่วมหาวิทยาลัย มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป นับว่าเป็นการใช้มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มุ่งมั่นสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน แถมจะขยายมาตรการนี้ไปพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสิ้นปีนี้
ตามโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะเวลา 5 ปี (2559-2564) เพื่อการบริหารและจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย
ล่าสุดโชว์ผลการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ลดถุงพลาสติกได้ 90% ในร้านสะดวกซื้อรวมปริมาณถุงพลาสติกที่ลดได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านใบ โดยที่เตรียมขยายมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ครอบคลุมทุกร้านค้าและขยายมาตรการไปยังพื้นที่เชิงพาณิชย์สิ้นปีนี้ เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยในพื้นที่เมือง เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกและความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารทำให้ จุฬาฯ ยกระดับมาตรการลดขยะที่ต้นทางเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสังคมให้ปรับวิถีการบริโภค ละความสะดวกสบายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ประกาศเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นเขตปลอดภาชนะโฟม 100% รวมทั้งถุงพลาสติกชนิด Oxo- degradable ที่แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้น เลิกใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 100% ในโรงอาหาร ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกร้านค้าในเขตพื้นที่การเรียนการสอนได้ 80% และลดปริมาณหลอด ช้อน-ส้อมพลาสติกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% เพื่อแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป จุฬาฯ กล่าวว่า “โครงการ Chula Zero Waste เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน” โดยตั้งเป้าที่จะเป็นต้นแบบการจัดการขยะมหาวิทยาลัยในพื้นที่เมือง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) อย่างมีนัยสำคัญซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน”
ด้าน ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ได้นำเสนอความสำเร็จของมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการมา 2 ปีกว่า (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560) ซึ่งช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกไปได้ถึง 90% รวมเป็นปริมาณถุงที่ป้องกันไม่ให้เป็นขยะได้กว่า 3 ล้านใบ แต่จุฬาฯ จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เนื่องจากถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ คิดเป็น 26% ของร้านค้าทั้งหมดในมหาวิทยาลัยและปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 28% ของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ประเภทที่รวมๆ แล้วอาจมีปริมาณการใช้มากกว่า 20 ล้านชิ้นต่อปี ที่ผ่านมา การรณรงค์เชิงสมัครใจไม่ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฯ ดังกล่าว
มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในจุฬาฯ ครอบคลุมร้านค้าในเขตพื้นที่การศึกษา โดยห้ามใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable โดยเด็ดขาด งดการให้ถุงพลาสติกฟรี (ยกเว้นสำหรับของร้อนพร้อมทาน) เปลี่ยนเป็นเก็บเงิน 1-2 บาทตามกลไกเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจให้ลดรับถุงพลาสติก ถุงที่อนุญาตให้ใช้จะมี 3 ทางเลือก คือ ถุงกระดาษ ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ที่ได้มาตรฐานการย่อยสลายเป็นปุ๋ย (compostable) และถุงที่ผลิตจากพลาสติก รีไซเคิล 100 %
ส่วนแก้วน้ำในโรงอาหาร ให้เปลี่ยนจากแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นแก้วที่ล้างใช้ซ้ำได้หรือ Zero-Waste Cup ซึ่งเป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 4-6 เดือน และให้มีการลดการแจกหลอดหรือช้อนส้อม จะให้ก็ต่อเมื่อลูกค้าร้องขอเท่านั้น
มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเขตพื้นที่การศึกษาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันสถาปนาจุฬาฯครบรอบ 102 ปี ส่วนพื้นที่ในเชิงพาณิชย์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป แต่ยังไม่บังคับให้ร้านค้างดแจกถุงฟรีเหมือนในพื้นที่การศึกษา อย่างไรก็ดี ร้านสะดวกซื้อ 7-11 สาขา CU Terrace และสาขาคณะเภสัชศาสตร์ จะร่วมงดแจกถุงพลาสติกฟรี ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเช่นกัน
งานเสวนาและแถลงข่าวมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นที่เรือนจุฬานฤมิต (เมื่อ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา) ในงานมีการประกาศเจตนารมณ์การดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ โดย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี การนำเสนอความก้าวหน้า “จุฬาฯ กับมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนและโครงการ Chula Zero Waste” โดย ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป จุฬาฯ การชี้แจงรายละเอียดมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ พ.ศ. 2561 โดย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ความร่วมมือของสำนักจัดการทรัพย์สินในการดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน
นอกจากนี้ยังมีการเสวนา“ปัญหาขยะพลาสติกกับบทบาทของมหาวิทยาลัย” นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศิรพันธ์ วัฒนจินดา (นุ่น) ดารานักแสดงเจ้าของแอปพลิเคชัน ECOLIFE ที่ช่วยลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และนิสิตชมรม Chula Zero Waste รวมทั้งมีนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะ และผลงานออกแบบถังขยะแยกประเภทอัจฉริยะจากนิสิตคณะครุศาสตร์ และงานประติมากรรมจากขยะพลาสติกของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์อีกด้วย
โครงการ Chula Zero Waste
•โครงการสามารถลดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ 3 ล้านใบในระยะเวลา 2 ปี (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560) เริ่มจากขอความร่วมมือลดใช้ถุงเมื่อซึ้อของน้อยชิ้นและต่อมาได้งดแจกถุงพลาสติกฟรีในร้านสหกรณ์จุฬาฯ และบูธ 7-11 ก่อนเปลี่ยนเป็นเก็บเงินค่าถุง 2 บาท
•ลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3.8 แสนใบ หรือเทียบเป็นปริมาณขยะประมาณถึง 5.7 ตันในเวลา 4 เดือนตั้งแต่เริ่มใช้ โดยให้ร้านค้าใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup) แก้วที่ใช้เสร็จแล้วจะเข้าสู่การคัดแยกเพื่อนำไปฝังกลบทำเป็นปุ๋ยหมักกลับมาใช้กับต้นไม้ในจุฬาฯ และยังมอบให้หน่วยงานหรือมูลนิธิที่สนใจนำไปเพาะกล้าไม้แทนถุงเพาะชำพลาสติก
•จัดการขยะที่รีไซเคิลยากหรือมีมูลค่าต่ำที่มีค่าความร้อนโดยการแปรสภาพเป็นพลังงานทดแทนถ่านหินที่โรงปูนซีเมนต์จังหวัดสระบุรี
คำประกาศเจตนารมณ์
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเป้าหมายการลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ ว่า
“ลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ต้นทาง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดความเสี่ยงการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์”
“ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาคมจุฬาฯ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างให้กับสังคม”
เป้าหมายลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายใน 3 ปี (ปีงบประมาณ 2562 - 2564)
1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดโฟม 100% และปลอดถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable ที่แตกตัวเร็ว กลายเป็นไมโครพลาสติก
2.ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วลง 80% ในทุกร้านค้า (ผ่านมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ “เก็บเงินค่าถุงพลาสติก” เพื่อจูงใจให้พกถุงผ้า)
3.เลิกใช้แก้วพลาสติก 100% ในโรงอาหาร (เปลี่ยนเป็นแก้วที่ใช้ซ้ำได้หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup)
4.ลดปริมาณการใช้หลอดพลาสติก ช้อน-ส้อมพลาสติกลง 20% (ผ่านมาตรการ “ขอก่อน ค่อยให้” (on request) และลด-งดแจก ในการประชุมและการจัดงานพิเศษต่างๆ)