จากแนวคิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สู่การสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนทราบดีว่าประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนและสังคมไทยในปัจจุบันไม่ได้เป็นปัญหาที่ไกลตัว และในบางครั้งส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาโดยตรงเสียด้วยซ้ำ นั่นเป็นสาเหตุทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากอยากที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม
แนวความคิดหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่ความมั่นคงของธุรกิจและการแก้ไขปัญหาสังคมควบคู่กันก็คือ การประกอบกิจการเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise (SE) เพราะนอกจากจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอาชีพที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับตัวผู้ประกอบการไปพร้อมๆ กับการช่วยสร้างประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมแล้ว ยังมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจเพื่อส่งต่อให้คนอื่นๆ กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อไปอีกด้วย
บ้านปูฯ ชวนมาร่วมทำความรู้จักกับ 3 ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนเป็นทีมผู้ชนะจากการเข้าประกวดโครงการ BC4C เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยผู้ประกอบกิจการทั้งสามท่านต่างมีจุดยืนที่ยึดมั่นเหมือนกันนั่นคือ ความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นในต่างจังหวัด และพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึงต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป
โดยผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 กิจการถือว่าเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยที่เห็นถึงปัญหา และกล้าลุกขึ้นมาริเริ่มดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์ พัฒนา และแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจนประสบความสำเร็จ และยังคงมุ่งมั่นต่อยอดกิจการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มคุณค่าให้กับชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
จากการได้มีโอกาสเจอกับเมนเทอร์ (Mentor) ที่ถูกคอจนกลายเป็นคู่คิดทางธุรกิจจนถึงปัจจุบัน อุ๋ย - นิโลบล ประมาณ จากโครงการ BC4C ปีที่ 5 นำเงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจากโครงการฯ มาต่อยอดกิจการเพื่อสังคม จาก “Happy Field, Happy Farm” สู่ “ม่วนจอย” ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดแพร่ ให้เห็นถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรอย่าง ข้าว ชา และผลไม้ออร์แกนิค ไปจนถึงผ้าทอพื้นเมือง และไม้สัก โดยอุ๋ยเล่าว่า “การมีโอกาสไปเรียนที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศ ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่แตกต่าง และความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงพยายามสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้นำความรู้ ความสามารถด้านที่ถนัด กลับมาสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชน รวมถึงพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เติบโต ขยายฐานการผลิต และสามารถอยู่รอดในตลาดได้”
ซิลเวอร์ - ยุจเรศ สมนา กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการประกอบกิจการเพื่อสังคม Craft de Quarr ว่า “จุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ BC4C ปีที่ 8 คืออยากได้ความรู้เรื่องการทำธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาและสร้างพลังบวกให้กับสังคม เราอยากช่วยให้ชุมชนมีรายได้ควบคู่กับการได้สืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านและงานศิลปะพื้นเมือง”
ซิลเวอร์จึงมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ทั้งเรื่องการตลาด และการออกแบบลายผลิตภัณฑ์ที่ผสานเอกลักษณ์ความสวยงามจากท้องถิ่นเข้ากับความทันสมัย เนื่องจากต้องการกระจายรายได้ให้คนในอีกหลายชุมชน และเมื่อ Craft de Quarr มีเป้าหมาย ระบบการทำงาน และแผนพัฒนาธุรกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่น และหันมาร่วมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณค่าของการได้ลงมือทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ คือการได้มีส่วนสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทยว่า การท่องเที่ยวเชิงชุมชนเป็นมากกว่าแค่การถ่ายรูปเช็คอิน เพราะมันคือการได้เรียนรู้และเข้าถึงเรื่องราว ได้สัมผัสเสน่ห์ของศิลปะวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวชุมชนจริงๆ และที่สำคัญได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไม่ให้หายไปตามกาลเวลา นี่คือแรงบันดาลใจของอุ๋ม - เพ็ญศิริ สอนบุตร BC4C รุ่นที่ 2 หนึ่งในทีมงาน Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยมีชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก เพราะอุ๋มเชื่อว่า การทำกิจการเพื่อสังคมเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
แม้ทั้งสามกิจการจะมีความตั้งใจที่คล้ายคลึงกันคือ ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาประกอบอาชีพ โดยใช้ความรู้ ความสามารถของตนเพื่อพัฒนาและสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านเกิด จนพวกเขาสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน แต่ทั้งสามกิจการก็มีแผนธุรกิจและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชนและความถนัดของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของผู้ประกอบกิจการทั้งสาม ได้กลายเป็นข้อพิสูจน์ว่า แนวคิดเรื่องการประกอบกิจการเพื่อสังคมสามารถช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ในระยะยาว
ถึงขณะนี้ โอกาสของผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่กำลังมาถึงอีกครั้งแล้ว โครงการ BC4C ขอเชิญชวนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 20-35 ปี จากทั่วประเทศที่มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่งแผนธุรกิจ ทั้งประเภทรายบุคคล หรือรวมกลุ่มไม่เกิน 4 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการ BC4C ปีที่ 9 แข่งขันชิงทุนสนับสนุนรวมกว่า 2 ล้านบาท ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 7 เมษายน 2562
สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://bit.ly/2iZBAbe หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions