xs
xsm
sm
md
lg

นั่งรถไฟฉึกฉักๆ เที่ยวเหนือ-ล่องใต้ กับเด็กอนุบาลกุ๊กไก่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขอพาไปเยี่ยมชม “นิทรรศการ การเรียนรู้แบบ Project Approach” ของเด็กๆนักเรียนจากโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ที่พวกเขาใช้เวลานานกว่า 7 สัปดาห์ในการเรียนรู้ ศึกษา และหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆที่ตัวเองสนใจ
“ขณะนี้รถไฟของท่านพร้อมออกเดินทางแล้ว กรุณานั่งประจำที่ให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัยของทุกท่านด้วยค่ะ ปู๊นๆ ฉึกฉักๆ ปู๊นๆ”
เอาล่ะค่ะ ท่านผู้อ่าน ขณะนี้รถไฟของเราได้เดินทางมาถึง “นิทรรศการ การเรียนรู้แบบ Project Approach” ของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่แล้ว ขอเชิญทุกท่านตามดิฉันมาชมบรรยากาศภายในห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาล 3/1 ซึ่งถูกเด็กๆ เนรมิตให้กลายเป็นสถานีรถไฟ ที่มีรถไฟขนาดใหญ่แล่นอยู่กลางห้องเรียน ส่วนบรรยากาศรอบๆห้องก็รายล้อมไปด้วยผลงานชิ้นโบว์แดงที่เกี่ยวข้องกับรถไฟซึ่งผลงานจากเด็กๆนั้นเองค่ะ
คุณครูวารุณี หรือ ครูอู๊ด คุณครูประจำชั้นห้อง อ.3/1 เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบ Project Approach ในแต่ละสัปดาห์ว่า เด็กๆได้เรียนรู้กระบวนการศึกษาควบคู่ไปกับศาสตร์วิชาแขนงต่างๆ อะไรบ้าง ซึ่งทำให้เราทราบว่า


ในสัปดาห์แรก เด็กๆต้องเริ่มต้นด้วยการช่วยกันทำกราฟโหวตเพื่อเลือกหัวข้อที่ตัวเองต้องการจะศึกษา โดยน้องชาลี หรือ ดช.สิรพัชร์ วชิระสมบูรณ์ เล่าย้อนบรรยากาศในวันโหวตว่า “ผมอยากเรียนเรื่องปฏิทินครับ เพราะผมอยากรู้ว่า วันนี้เป็นวันอะไร วันที่เท่าไหร่ และมีวันไหนบ้างที่เป็นวันสำคัญ” ในขณะที่เด็กๆคนอื่นๆต่างก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อที่ตนเองต้องการจะศึกษา อาทิ วัด กระดาษ หมวกกันน็อค และ สุนัข แต่หัวข้อที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆภายในห้องมากที่สุดคือ “รถไฟ” ซึ่งทุกคนจะต้องยอมรับในหลักการของประชาธิปไตย คือ การยึดข้อตกลงตามเสียงข้างมากนั้นเอง
ในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากที่ได้หัวข้อที่ต้องการจะศึกษาเรื่อง “รถไฟ” มาแล้ว คุณครูได้ให้เด็กๆเล่าถึงประสบการณ์เดิมที่มีเกี่ยวกับรถไฟ ผ่านการแสดงความคิดเห็น และสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นศิลปะ ด้วยการวาดภาพ ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน รวมไปถึงนำสิ่งของเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นผลงาน จากนั้นช่วยกันคิดคำถามที่สงสัย และข้อมูลที่อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรถไฟ เพื่อเตรียมหาคำตอบในสัปดาห์ถัดไป เห็นได้ชัดว่าในสัปดาห์นี้ เด็กๆได้ใช้กระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ทำผลงานออกมาในวิชาศิลปะเป็นอย่างดี
“การลงมือทำก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ซึ่งเราจะได้เห็นว่าการเรียนรู้ของเด็กๆ สามารถสะท้อนให้เห็นได้จากผลงานที่เด็กๆ ลงมือประดิษฐ์เป็นผลงานออกมา และแต่ละผลงานมีความแตกต่างไปตามความสนใจของเด็กๆ ซึ่งเราเปิดกว้างให้เด็กๆได้คิดและสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ไม่มีปิดกั้นค่ะ” คุณครูไก่ วิวรรณ สารกิจปรีชา ผู้อำนวยการและเจ้าของโรงเรียนกล่าว
สัปดาห์ที่ 3 เป็นสัปดาห์ของการสืบค้นข้อมูล "เด็กๆ ต่างช่วยกันค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟตามที่ตนเองสงสัย และ ตั้งคำถามไว้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรถไฟ ต้นกำเนิด ส่วนประกอบ หรือข้อมูลอื่นๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ การอ่านหนังสือ “สิ่งสำคัญของการสืบค้นนอกเหนือจากความรู้ที่ได้รับแล้ว เด็กๆจะได้เรียนรู้ว่าจะรู้อะไรจริงๆต้องสำรวจสืบค้นจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายแต่เชื่อถือได้ว่าข้อมูลน่าจะถูกต้องที่สุด เมื่อได้ข้อมูลแล้ว เด็กๆก็ต้องรู้จักคิดเปรียบเทียบ วิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อให้ความรู้ตกผลึก” คุณครูไก่ กล่าวเสริม

นอกเหนือไปจากความรู้ที่เด็กๆ ได้รับเกี่ยวกับเรื่องรถไฟแล้ว การเรียนแบบ Project Approach ยังสามารถเชื่อมโยงความรู้จากศาสตร์วิชาหลายแขนงมาก อาทิ วิชาสังคมและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรถไฟ วิชาวิทยาศาสตร์และการใช้เทคโนโลยีในการค้นคว้าข้อมูล รวมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์ในการนับขบวนโบกี้รถไฟ คำนวณค่าตั๋วรถไฟ และจำนวนประเภทของรถไฟ
น้องนิว หรือ ดช.สนันต์ สุขะนินทร์ กล่าวว่า “รถไฟคันแรกของโลก ถูกสร้างขึ้นโดย จอร์จ สตีเฟนสัน ในลักษณะของหัวรถจักรไอน้ำ ใช้ถ่านหินในการขับเคลื่อนที่ รถไฟแต่ละคันจะมีโบกี้เอาไว้ใช้ในการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ สิ่งของ จำนวนของโบกี้ขึ้นอยู่กับขนาดของรถไฟ”
ในสัปดาห์ที่ 4 ถือเป็นสัปดาห์สุดพิเศษและเด็กๆตั้งตารอให้ถึงไวๆ เพราะนอกจากเด็กๆจะได้เดินทางไปทัศนศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ แล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์จริงโดยการโดยสารรถไฟจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีคลองตัน น้องฮิโกะ หรือ ดญ.ศิรีน เบญจฤทธิ์ เล่าถึงประสบการณ์การนั่งรถไฟครั้งแรกว่า “ก่อนนั่งรถไฟ เราจะต้องไปซื้อตั๋วในราคา 2 บาท จากนั้นเราก็ต้องรอรถไฟที่ชานชาลา ตอนนั้นหนูรู้สึกกลัวนิดหน่อยค่ะ เพราะว่าเสียงของหัวรถจักรที่ทำงานอยู่มันดังมาก แต่พอได้ขึ้นไปบนรถไฟ และรถไฟแล่น หนูสนุกมากๆเลยค่ะ ตื่นเต้นที่ได้ขึ้นรถไฟกับเพื่อนๆ ได้เห็นบรรยากาศสีเขียวของต้นไม้ รู้สึกประทับใจมากเลยค่ะ”
ถัดมาในสัปดาห์ที่ 5 เด็กๆจะต้องช่วยกันศึกษาว่า รถไฟไปที่ไหนบ้าง จากหนังสือ “ถ้าวันหนึ่งฉันจะนั่งรถไฟ” ที่ได้มาจากการไปทัศนศึกษา โดยเด็กๆได้แบ่งเส้นทางของรถไฟทั้งหมดออกเป็น 4 สาย ได้แก่ สายตะวันออก สายอีสาน สายเหนือ และสายใต้ เรียกได้ว่าในสัปดาห์นี้อัดแน่นไปด้วย วิชาสังคมศึกษาในลักษณะของภูมิประเทศไปเต็มๆ
สัปดาห์ที่ 6 เด็กๆได้รับเกียรติจากคุณแสงอรุณ จันทร์สกุลทิพย์ และ คุณรุ่งกานต์ แสงทองสกุลเลิศ ผู้ปกครองของเพื่อนๆในห้องเรียนอนุบาล 3/1 มาเล่าประวัติความเป็นมา และประสบการณ์ในการโดยสารรถไฟในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงการช่วยเด็กๆ จำลองรถไฟขนาดใหญ่จากกระดาษ ซึ่งน้องชาลี หรือ ด.ชสิรพัชร์ คนเดิมสรุปให้เราฟังว่า “รถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นจะใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อประหยัดพลังงานน้ำมัน ส่วนค่าโดยสารจะต้องใช้เงินสกุลเยน ที่เป็นของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น”
สำหรับสัปดาห์สุดท้าย สัปดาห์ที่ 7 เด็กๆจะช่วยกันสรุปและทบทวนข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อนำมาจัดแสดงโชว์ใน “นิทรรศการ การเรียนรู้แบบ Project Approach” รวมถึงช่วยกันประดับตกแต่งห้องเรียนให้กลายเป็นสถานที่โชว์ผลงานที่มีความสวยงาม และ น่าสนใจ