xs
xsm
sm
md
lg

แก้โจทย์วิกฤตขยะ ด้วยกลไกตลาดทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ขยะ” เป็นวาระแห่งชาติของไทย ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งการรณรงค์เพื่อลดการสร้างขยะ สนับสนุนการคัดแยกขยะและส่งเสริมให้มีการกำจัดอย่างถูกวิธี แต่สถิติล่าสุดปีพ.ศ.2560 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.37 ล้านตัน หรือประมาณ 74,998 ตัน/วัน มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชุมชนเมือง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและสังคมบริโภคนิยม
แม้ว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือกสำหรับการกำจัดขยะอย่างถูกสุขลักษณะและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติการกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้ามีข้อจำกัดมากมาย ทั้งต้นทุนที่สูงในการก่อสร้างและการดำเนินการ ทักษะความสามารถของบุคลากร รวมทั้ง ความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จมีเพียงไม่กี่แห่ง

ดังนั้น จึงมีการจัดทำงานวิจัยเรื่อง “การกำจัดขยะด้วยกลไกตลาดทุน” โดยคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 27 (วตท.27) ซึ่งมีการเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเร็วๆ นี้ การวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการกำจัดขยะ และการนำขยะมาใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการอาศัยกลไกตลาดทุนในการบริหารจัดการ ทำให้ได้ตัวอย่างแนวคิดในการบริหารจัดการขยะและการจัดสรรทุนที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะ
การวิจัยดังกล่าวได้ตั้งโจทย์การศึกษา 2 ประเด็นหลัก คือ หนึ่ง การแก้ปัญหาการกำหนดราคาที่ไม่เหมาะสม หรือ Mispricing ในการกำจัดขยะ โดยอัตราที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บค่าธรรมเนียมในปัจจุบันเป็นอัตราคงที่ไม่ขึ้นกับปริมาณขยะและไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และ สอง การจัดหาเงินทุน (financing) ที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะ
ในการวิจัยพบว่ากลไกตลาดสามารถนำมาใช้บริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สร้างขยะต้องเป็นผู้จ่ายเงินเพื่อกำจัดขยะ โดยอปท.สามารถใช้วิธีการสร้างต้นทุนทางอ้อมผ่านการซื้อถุงขยะจากอปท. เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ ทางการเมืองจากการขึ้นค่าธรรมเนียม โดยแบ่งขยะเป็น 2 ประเภท คือ ขยะที่มีความชื้นหรือขยะเปียก และขยะที่ติดไฟได้ง่ายหรือขยะแห้ง วิธีนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ ช่วยลดการทิ้งขยะได้ และเป็นไปตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างแท้จริง

NPV, IRR และ PB ของโครงการกรณีที่มีผลกระทบจากการรณรงค์ 3Rs ใน    ลักษณะต่าง ๆ (มีขยะสดเข้ามา 500 ตันต่อวัน)
ส่วนการจัดสรรเงินทุนสำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะ ใช้การนำกลไกตลาดทุนมาใช้ในการจัดหาเงินทุน โดยเสนอรูปแบบโครงสร้างการจัดสรรเงินทุน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการจัดตั้ง SPV (Special Purpose Vehicle) เพื่อระดมเงินทุนในการจัดการสัมปทานบ่อขยะ การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อจัดหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) การสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะ และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
วิธีการนี้มีข้อดีคือ ข้อแรก ทำให้สัดส่วนของเจ้าของโครงการมีมากกว่า 50% ตามข้อบังคับใน PPA และ ข้อสอง เจ้าของโครงการสามารถได้ประโยชน์สูงสุดจากการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจากแบบจำลองโรงไฟฟ้าจากขยะที่มีปริมาณขยะสด 500 ตันต่อวัน เมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน ผู้ถือหุ้นบริษัทสามารถรับผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นจากเดิม 6.92 เท่า
นอกจากกลไกตลาดทุนจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาเงินทุนแล้ว ยังเกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ซึ่งช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีความสามารถเข้ามาในธุรกิจนี้ได้ โดยในการศึกษาวิจัยนี้พบว่า หากมีการคัดแยกขยะอย่างสมบูรณ์จะลดต้นทุนในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ได้ 100% ซึ่งเมื่อประเมินมูลค่าหุ้นตามแบบจำลองจะพบว่ามูลค่าจะเพิ่มจาก 1,500 ล้านบาท เป็น 2,500 ล้านบาท ดังนั้น หากมีการแข่งขันสมบูรณ์จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถคืนเงินผลตอบแทนส่วนเพิ่มนี้แก่ผู้คัดแยกขยะได้ บริษัทสามารถลดค่า FiT ซึ่งเป็นมาตรการอุดหนุนของรัฐในการรับซื้อไฟฟ้าจาก 5.78 บาท/หน่วย ลงเหลือ 4.09 บาท/หน่วย ใน 8 ปีแรก เป็นการช่วยลดการบิดเบือนค่าไฟฟ้าได้
การวิจัยนี้เป็นประโยชน์สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ส่วน ได้แก่ “ผู้ประกอบการ” ที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดหาเงินทุนด้วยกลไกตลาดทุน “ผู้ดูแลนโยบาย” เพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสม โดยมีการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้กลไกตลาดทุนและการแข่งขันเสรีเพื่อให้มีกลไกในการคืนเงินส่วนเกินเมื่อมีการคัดแยกขยะกลับสู่ผู้บริโภค “นักลงทุนในตลาดทุน” ด้วยการแสดงให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าจากขยะจากกรณีศึกษาตัวอย่างและเป็นแนวทางในการประเมินมูลค่าสำหรับผู้ถือหุ้น และ “ประชาชน” เพื่อให้เห็นความสำคัญของปัญหาขยะและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่พึงได้จากการคัดแยกขยะ
ตัวอย่างแผนการลงทุนในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ
ผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนบริษัทกำจัดขยะและผลิตกระแสไฟฟ้านี้ เป็นการศึกษาโครงการในระดับของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตขนาดไม่เกิน 10 MW ปริมาณขยะที่ต้องการมีจำนวน 500 ตันต่อวัน โดยมีกระบวนกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าเป็นแบบรูป A โดยบริษัทได้รับสัมปทานการกำจัดขยะสดจากอปท. มีต้นทุนการกำจัดขยะ 300 บาทต่อตัน ขยะสดจะถูกคัดแยกและผ่านกระบวนการ RDF จะได้เป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF ประมาณ 45% ของปริมาณขยะสดทั้งหมด ได้ปุ๋ยหรือสารปรุงดินประมาณ 30% ได้ขยะ Recycle ประมาณ 5% และได้ขยะส่วนเกินหรือของเหลือประมาณ 10%
แต่หากปริมาณขยะสดที่เข้ามาต่อวันไม่ถึง 500 ตัน จะมีการนำขยะเก่าจากบ่อขยะที่ได้สัมปทานมาใช้ เพื่อให้ระบบสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต จากนั้นเชื้อเพลิงขยะ RDF จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า แล้วจึงจัดจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าต่อไปซึ่งกำหนดให้เป็นสัดส่วน 80% ส่วนที่เหลือ 20% ใช้สำหรับการเดินระบบภายในโรงงาน
สรุปว่า ประมาณการรายได้ของโครงการจะมาจาก “ค่ากำจัดขยะ” (Tipping Fee) ที่ได้จากอปท.คงที่ 300 บาทต่อตัน “รายได้จากการขายไฟฟ้า” โดยใช้เชื้อเพลิง RDF ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากโครงการนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เป็น VSPP จะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้า (FiT) อยู่ที่ 5.78 บาท ใน 8 ปีแรก หลังจากนั้นจะอยู่ที่ 5.08 บาท ทั้งนี้ กำหนดให้เชื้อเพลิงขยะ RDF เป็น 45% จากปริมาณขยะทั้งหมด “รายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน” ซึ่งกำหนดให้ราคาขายต่อตันเท่ากับ 1,000 บาท โดยขยะสด 100% เมื่อผ่านกระบวนการ RDF แล้วจะได้ปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินประมาณ 30% “รายได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิล” กำหนดให้ราคาจำหน่ายขยะรีไซเคิล 4,000 บาทต่อตัน โดยขยะสดเมื่อผ่านกระบวนการ RDF แล้วจะได้ขยะรีไซเคิลประมาณ 5%
สำหรับประมาณการต้นทุนของโครงการมาจาก “ต้นทุนของกระบวนการ RDF” ประกอบด้วย ต้นทุนคงที่ 6 ล้านบาทต่อปีและต้นทุนผันแปรตามปริมาณการผลิต 500 บาทต่อวัน “ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า” ประกอบด้วย ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าจ้าง ค่าบำรุงรักษา ค่าบริหารจัดการ 55 ล้านบาทต่อปี และต้นทุนผันแปรในการผลิตไฟฟ้า เช่น ค่าเชื้อน้ำมันที่ใช้ในการผลิต ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดของเสีย ค่าใช้จ่ายเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 35 ล้านบาทต่อปี และ “ต้นทุนในการกำจัดขยะส่วนเหลือ” 500 บาทต่อตัน
แต่ทั้งนี้ เมื่อกำหนดให้มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ประชาชนลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะจะมีผลกระทบต่อต้นทุนและรายได้ของโครงการ จะเห็นได้ว่าหากการณรงค์ในกรณีที่ 2 ได้ผลมาก จนทำให้ปริมาณขยะที่โรงไฟฟ้าได้รับต่อวันน้อยลง จะมีผลลบต่อผลตอบแทนของโครงการกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างมาก และให้ผลตอบแทนโครงการต่ำสุดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เพราะเมื่อปริมาณขยะที่เข้ามาน้อยจน แม้จะมีการนำขยะเก่ามาใช้เพื่อให้ระบบสามารถทำงาน ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ผลตอบแทน โครงการดีขึ้น
ส่วนกรณีที่ 4 ชุมชนคัดแยกขยะและอาจมีการจำหน่ายขยะรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะรีไซเคิลที่บริษัทได้รับลดลงและส่งผลให้รายได้จากการขายขยะรีไซเคิลของบริษัทลดลงด้วย กรณีนี้ให้ผลตอบแทนโครงการต่ำกว่ากรณีไม่มีผลจากการรณรงค์การคัดแยกขยะมากนัก เนื่องจากสัดส่วนของขยะรีไซเคิลของโรงไฟฟ้ามีเพียง 5% จากปริมาณขยะทั้งหมด ทำให้ไม่ค่อยมีผลต่อผลตอบแทนโครงการ
ในขณะที่กรณีที่ 3 การรณงค์คัดแยกขยะประสบความสำเร็จมากและส่งผลให้ต้นทุนการคัดแยกขยะในกระบวนการ RDF ของบริษัทมีต้นทุนลดลงเหลือ 0% จะมีผลดีต่อบริษัทสูงที่สุด เพราะทำให้โครงการมี NPV ถึงกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท และมี IRR ของโครงการสูงถึง 24.99%
สำหรับการวางแผนโครงสร้างการลงทุน เนื่องจากโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะใช้การลงทุนค่อนข้างสูง แต่ถ้ามีการวางแผนโครงสร้างการลงทุนอย่างเหมาะสม โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะนี้จะสามารถแบ่งการลงทุนและจัดสรรเงินทุนออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การระดมทุนเพื่อทำสัญญาเช่าสถานที่กำจัดขยะหรือบ่อขยะซึ่งบริษัทจะตั้ง SPV ระดมทุนจำนวน 150 ล้านบาท
ระยะที่ 2 การขอใบอนุญาตทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA ระดมเงินทุนประมาณ 100 ล้านบาท
ระยะที่ 3 การสร้างโรงไฟฟ้า ใช้เงินทุน ประมาณ 1,250 ล้านบาท โดยกู้สถาบันการเงิน จำนวน 1,050 ล้านบาท และเพิ่มทุน 200 ล้านบาท
และระยะที่ 4 เมื่อโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD บริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเสนอขายหุ้น IPO ให้ประชาชนได้
ทั้งนี้ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีผลดีต่อผู้ถือหุ้น กล่าวคือ เมื่อนำหุ้นเข้าตลาดแล้ว ณ วันที่นำบริษัทเข้าตลาดทุนจะได้ราคาหุ้น 3.46 บาท เท่ากับว่าราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 6.92 เท่าเมื่อเทียบกับราคาเริ่มต้นที่ 50 สตางค์ ผู้ถือหุ้นอาจเลือกรับผลตอบแทนจากการขายหุ้น (Exit) และรับผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น 6.92 เท่า หรือรอรับ เงินปันผลจากการดำเนินโครงการ
อีกทางเลือกหนึ่งของบริษัทเพื่อจัดโครงสร้างทุนให้เหมาะสม บริษัทอาจพิจารณาการออกหุ้นกู้เพื่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการระดมทุนเพื่อโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง ฯลฯ การออก Green Bond ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนยุคใหม่ต่อเครื่องมือทางการเงินที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น