กิจการต่างๆ ทั่วโลกเบนเข็มการปรับพฤติกรรมกรีนไปธีมของ Zero Waste ซึ่งเป็นแนวทางใกล้เคียงกันมากขึ้นก็จริง แต่การนำไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ยังก้าวต่อไปและมีความแตกต่างกันบนรูปแบบของการดูแลการปลอดขยะว่าเป็น Smart Zero Waste ด้วยหรือไม่
ตามรายงานการศึกษาของ Environmental Leader เมื่อไม่นานมานี้ ได้กล่าวถึง Smart Zero Waste จากประสบการณ์ที่เกิดจริงในรอบปี 2018 ที่ผ่านมา จากบรรดาผู้ประกอบการประเภทต่างๆ ที่ล้วนแต่ประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินกิจการบนแนวทาง Zero Waste ต่อการทิ้งขยะบนผืนดิน ให้ได้ภายในเวลาที่กำหนดในอนาคต แล้วแต่ขีดความสามารถและความพร้อมด้านทรัพยากรของแต่ละกิจการ
ซึ่งในภาคปฏิบัติจริงได้พบว่า การที่ผู้ประกอบการในโลกจะบรรลุผลสำเร็จไม่ใช่แค่รับปากแล้วจะสำเร็จ หากต้องมีกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดอย่าง Smart Zero Waste ประกอบด้วย และต้องร่วมมือร่วมแรงกันจริงจังจากห้องทำงานของคณะกรรมการไปจนถึงหน้าโรงงานผลิตกันเลยทีเดียว
หากจะประมวลบรรดา Smart Zero Waste ที่เกิดไปแล้วในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการที่ยังไม่ถึงเส้นชัย อาจจะสรุปได้ดังนี้
แนวทางแรก กลยุทธ์การสร้างพันธมิตรร่วมเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ
อย่างเช่นกรณีของ Super Bowl LII ที่ยูเอส แบงก์ สเตเดียมในมินเนสโซตา ที่ริเริ่มโครงการความร่วมมือชื่อ Rush2Recycle จนสามารถกำจัดขยะได้ทั้งหมดในทุกๆ วันที่มีการแข่งขันกีฬาในสนาม โดยจะมีพันธมิตรอาสาในโครงการที่สามารถจัดการบริหาร 91% ของบรรดาขยะที่ทิ้งไว้ในทุกถังขยะในสนามกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรมีทั้ง NFL, PepsiCo, Aramark, US Bank Stadium และหน่วยงานภาครัฐคือ the Minnesota Sports Facilities Authority ซึ่งทำให้ผลงานที่ออกมาน่าพอใจอย่างยิ่ง
จุดที่โดดเด่นก็คือ การร่วมกันสร้างแนวทางบริหารงานบริการอาหารในระหว่างการแข่งขันกับบรรดาแฟนกีฬาที่เข้ามาใช้สถานที่ในสนามแห่งนี้ ในการกำจัดขยะอาหารที่มีมากมายลงไป มีการวางแผนและบริหารการส่งต่อเศษอาหารไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ตามฟาร์มเกษตรจนหมดเลี้ยง นอกจากนั้น ก็มีกรณีของ Absolute Vodka ที่ติดตามขยะที่เกิดด้วยการทำงานร่วมกับเกษตรกรในสวีเดน ให้ส่งไปใช้เป็นอาหารหมูและอาหารวัวในท้องถิ่นกว่า 26,000 ตัว
แนวทางที่สอง การให้หนังสือรับรองการทำกิจกรรม Zero Waste Certificate
เป็นกรณีของหน่วยงาน The US Green Building Council’s Total Resource Use and Efficiency (TRUE) ได้จัดระบบที่เรียกว่า Zero Waste Certificate Systemที่ช่วยกิจการต่างๆ ในลักษณะของงานที่ปรึกษาเพื่อช่วยให้กิจการนั้นๆ ผ่านเข้าสู่เงื่อนไขที่สามารถขอหนังสือรับรอง Zero Waste Certificate ได้
บริษัทที่ผ่านกระบวนการช่วยเหลือทางเทคนิคในลักษณะที่ปรึกษานี้ คือ Coconut Taps จนสามารถแปลงขยะ 95% ที่โรงงานในลาสเวกัสออกจากการทิ้งขยะในผืนดินได้สำเร็จ ห้างค้าปลีก Target ออกมาประกาศว่า 70% ของขยะจากธุรกิจค้าปลีกของตนได้รับ Zero Waste Certificate ด้วยเช่นกัน
แนวทางที่สาม การตกต่างและซ่อมแซมใช้ใหม่
กรณีของ Walmart มีเป้าหมายของ Zero Waste ในร้านค้าในพื้นที่แคนาดา ญี่ปุ่น อังกฤษและสหรัฐในปี 2025 ด้วยการใช้นิยามของ Zero Waste ที่ดีเหนือกว่านิยามของมาตรฐานระหว่างประเทศในกลุ่มพันธมิตรที่เรียกว่า Zero Waste International Alliance (ZWIA) ด้วย
โดย Walmart ได้แยกขยะในส่วนที่ไม่ใช่อาหารออกมาทำการตกต่าง ซ่อมแซมใหม่ ให้สามารถยืดอายุการใช้งานได้นานกว่าเดิมแทนที่จะทิ้งเป็นขยะไป โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการทำกล่อง ภาชนะสำหรับธุรกิจชอปปิ้งชื่อ Unarco ทำให้โลหะที่เคยทิ้งขยะเป็นของที่นำกลับมาใช้ได้กว่า 22,000 ตัน ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการอย่างมากในการบรรลุ Smart Zero Waste ก็คือ การคิดใหม่ว่าสิ่งที่มองเห็นตรงหน้าคือ ขยะหรือคือขุมทรัพย์ และจะชุบชีวิตใหม่ให้วัสดุที่เคยเป็นขยะเหล่านี้อย่างไร ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ หรือแม้แต่ขยะก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ดี
บริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Procter & Gamble หรือยักษ์ใหญ่อย่างเป๊ปซี่ ไม่เคยหยุดที่จะมองหาหนทางใหม่ๆ ในการจัดการด้วย Smart Zero Waste
บางกิจการถึงขนาดตั้งทีมเฉพาะชื่อ Global Asset Recovery Purchases team หรือ Recycle Center ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้โรงงานของตนสามารถบริหารจัดการขยะในทุกรูปแบบของวัสดุให้ได้มากที่สุด และพัฒนาจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง โดยถือว่าขยะคือ ผลพลอยได้ หรือ Byproducts ที่ได้มาจากการดำเนินงานที่ต้องมีทีมนำไปบริหารจัดการให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่กิจการอย่างคุ้มค่า
วัสดุที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพลาสติกอีกต่อไป ไม่เว้นแม้แต่เปลือกส้มที่ผ่านกระบวนการคั้นน้ำไปทำสินค้าของ Tropicana สามารถหาเครือข่ายมารับซื้อไปทำเป็นอาหารสัตว์ จนเกิดการใช้ประโยชน์ไม่มีการทิ้งไปแม้แต่ผลเดียว