xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพัฒน์ เผยทิศทาง CSR ปี 62 ชู “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” สร้างพลังแห่งความยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 62 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมชูประเด็น “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างพลังแห่งความยั่งยืน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2562 ว่า “เรื่อง Value x Impact ถือเป็นแนวทางหลักของการทำ CSR สำหรับองค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าทั้งต่อสังคมและต่อกิจการ สามารถดำรงสถานะการเติบโตกิจการ และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกิจการ ในการสร้างผลกระทบเชิงบวก และบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว”
“ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2562 : The Powerof Sustainability เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้ธีม Value x Impact ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและความคาดหวังของสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน
ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง 'Value x Impact: The Powerof Sustainability' เพื่ออัปเดต 2 เครื่องมือและวิธีการสำคัญ ในการเพิ่มคุณค่าและผลกระทบจากการทำ CSR ในบริบทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ได้แก่ Value Driver Model (VDM) และ Impact Management (IM) ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจ สามารถหยิบเครื่องมือ Value Driver Model มาใช้โดย เริ่มจากการสำรวจสิ่งที่องค์กรดำเนินการซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน นำมาจัดหมวดหมู่ตามที่เครื่องมือ VDM แนะนำ ได้แก่ การเติบโตของรายได้จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา (Sustainability-Growth หรือ S/G) การประหยัดต้นทุนจากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน (Sustainability Productivity หรือ S/P) และการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ (Sustainability-Risk Management หรือ S/R) เพื่อระบุถึงช่องว่าง (Gap) ที่องค์กรยังมิได้ดำเนินการ หรือที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้แก่กิจการในระยะยาว”
ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมถึงการใช้เครื่องมือ Impact
Management ว่า “กิจการสามารถใช้เครื่องมือ IM ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายฝ่ายภายใต้กลุ่ม
Impact Management Project ในการระบุว่าผลที่สร้างขึ้นอันไหนที่มีความสำคัญ และข้อมูลอะไรที่กิจการสามารถรวบรวมสำหรับประเมินสมรรถนะของผลที่มีความสำคัญเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการผลนั้นๆ ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ได้แก่ มิติ What มีผลลัพธ์อะไรที่สัมพันธ์กับผลที่สร้างขึ้นจากกิจการ และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและโลก มิติ Who ใครบ้างที่เป็นผู้ได้รับผล และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการผลลัพธ์นี้มากน้อยเพียงใด มิติ HowMuch ผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด มิติ Contribution กิจการมีส่วนในผลที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และ มิติ Risk มีความเสี่ยงอะไรและอย่างไร (ต่อผู้คนและโลก) หากผลไม่เป็นไปดังหวัง”

ภายในงานเสวนา ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับหนังสือ “พลังแห่งความยั่งยืน: The Power of Sustainability” ที่
สถาบันไทยพัฒน์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการใช้เครื่องมือ Value Driver Model และ Impact Management ในการเพิ่มคุณค่าและผลกระทบจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ตอบโจทย์ความยั่งยืน และเสริมสร้างผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กิจการ ส่วนผู้สนใจที่ไม่ได้มางานนี้ก็สามารถติดต่อขอรับหนังสือ พลังแห่งความยั่งยืน: The Power of Sustainability ได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org

จับตา 6 ทิศทาง CSR ในปีนี้
1. The Rise of Waste-Free Campaign แปลงขยะ (Waste) ปลายทาง ให้กลับมาเป็นวัสดุ (Materials) ต้นทาง

ปี 2562 ธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลายแห่ง จะลุกขึ้นมาจัดการกับขยะบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติก ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการลดใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง การหาวิธีทดแทนบรรจุภัณฑ์เดิม และการใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่ธุรกิจในหมวดพาณิชย์ที่เป็นผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าปลีก โดยเฉพาะที่มีหน้าร้านเป็นสถานที่จัดจำหน่าย จะออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้บริโภค ลดการรับหีบห่อหรือภาชนะที่เป็นพลาสติกอย่างต่อเนื่อง

2. Inclusive Supply Chain เปลี่ยนบทบาทผู้ด้อยโอกาส จากการเป็น ‘ผู้รับมอบ’ ความช่วยเหลือ มาเป็น ‘ผู้ส่งมอบ’ ในสายอุปทาน
ภาคธุรกิจจะให้ความช่วยเหลือทางสังคมแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ถูกคัดเลือก ด้วยการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างอาชีพรายได้ แทนการมอบเงินหรือสิ่งของ ในลักษณะที่เป็น CSR-after-process มาสู่การจัดหาด้วยการเปิดโอกาสให้เป็นผู้ส่งมอบในสายอุปทาน ซึ่งจัดเป็น CSR-in-process ที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

3. The Shift to the SDG Economyเคลื่อนย้ายสู่ระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในปี 2562 เป็นต้นไป ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อ SDGs ในภาคธุรกิจ จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (Act Responsibly) ต่อผลกระทบในเชิงลบ แต่รวมถึงการแสวงหาโอกาส (Find Opportunities) ที่เป็นการสร้างคุณค่าหรือผลกระทบในเชิงบวก เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Economy)

4. Investment in the Third Dimension เปิดโลกทัศน์การลงทุน จาก Risk-Return Profile ไปสู่การเพิ่มมิติที่เป็น Real World Impact
ผู้ลงทุนประเภทสถาบันที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะเพิ่มการพิจารณาผลกระทบเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก (Real World Impact) เป็นมุมมองของการลงทุนในมิติที่สาม เพิ่มเติมจากการพิจารณาคุณลักษณะความสัมพันธ์ด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk-Return Profile) ในแบบทั่วไป

5. Impact is the New AccountAbility Principle ใช้หลักการ AccountAbility เพื่อจัดการ Sustainability อย่างบูรณาการ
เป็นที่คาดหมายว่า กิจการที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือในผลการดำเนินงานและการรายงานด้านความยั่งยืน ผ่านการให้ความเชื่อมั่นจากหน่วยงานภายนอก (External Assurance) จะนำชุดหลักการ AccountAbility ที่ได้เพิ่มเติมหลักผลกระทบ (Impact) ไว้เป็นหลักการที่สี่ มาใช้กำกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และสื่อสารถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในรอบปีการดำเนินงานนี้เป็นต้นไป

6. Sustainability S-Curve ยกระดับจากกลยุทธ์ความยั่งยืน (Sustainability Strategy) ไปสู่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Strategy)
วิสาหกิจที่อาศัยกลยุทธ์ความยั่งยืน เป็นเครื่องมือดำเนินงานมาระยะหนึ่ง จะเริ่มผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กร มีการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ และคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้กำกับดูแลกลยุทธ์ (องค์กร) ที่ยั่งยืน (Sustainable Strategy) โดยไม่จำเป็นต้องมีคณะผู้รับผิดชอบด้านความยั่งยืนแยกต่างหากอีกต่อไป