เพจ CHULA zero waste ตอกย้ำถึงวิธีการจัดการขยะแบบครบวงจร (ที่ไม่หนักแผ่นดิน)เริ่มจากรณรงค์ให้ลดตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติลดขยะที่ทำง่ายที่สุด
อย่างถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เนื่องจากคนจุฬาฯ ส่วนใหญ่จะพกกระเป๋ามาด้วยอยู่แล้ว เราจึงเริ่มด้วยการนำร่องขอความร่วมมือให้ลดการใช้ถุงเมื่อซื้อของน้อยชิ้น ช่วงต่อมาก็ได้งดแจกถุงพลาสติกฟรีในร้านสหกรณ์จุฬาฯ และร้าน 7-Eleven ทั้ง 6 สาขา ก่อนเปลี่ยนเป็นเก็บเงินค่าถุง 2 บาท ซึ่งในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา สามารถลดถุงพลาสติกที่มักใช้กันครั้งเดียวทิ้งถึง 3 ล้านใบ
ต่อมาสนับสนุนให้ใช้ภาชนะใช้ซ้ำโดยเฉพาะแก้วน้ำ จนถึงตอนนี้เรามีตู้กดน้ำดื่มสะอาดทั้ง 45 จุดติดตั้งที่ได้รับการตรวจเช็กคุณภาพน้ำและเปลี่ยนไส้กรองทุก 3 เดือน ซึ่งสร้างความมั่นใจถึงความสะอาด เพื่อลดปริมาณขวดน้ำดื่มแบบใช้ครั้งเดียว
ส่วนแก้วน้ำพลาสติกในโรงอาหารก็ได้เปลี่ยนจากแก้วพลาสติกเดิมเป็นแก้วใช้ล้างซ้ำได้หรือ zero-waste cup แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 4-6 เดือน สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกได้ถึง 3.8 แสนใบ หรือเทียบเป็นปริมาณขยะประมาณถึง 5.7 ตันในเวลา 4 เดือนตั้งแต่เริ่มใช้ แถมแก้วที่ใช้เสร็จแล้วจะเข้าสู่การคัดแยกเพื่อนำไปฝังกลบทำเป็นปุ๋ยหมักกลับมาบำรุงต้นไม้ที่จุฬาฯ ก็ยังมอบให้หน่วยงานหรือมูลนิธิที่สนใจนำไปเพาะกล้าไม้แทนถุงเพาะชำอีกด้วย
สุดท้ายวางแผนการนำขยะพลาสติกที่มีมูลค่ารีไซเคิลกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ส่วนที่รีไซเคิลได้ยากหรือมีมูลค่าต่ำก็จะแปรสภาพเป็นพลังงานทดแทนการใช้ถ่านหินที่โรงปูนซีเมนต์ น่ายินดีที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา CHULA zero waste และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการจนสามารถลดขยะเหลือทิ้งออกจากเขตพื้นที่การเรียนการสอนของจุฬาฯบนพื้นที่ 637 ไร่ไปได้อย่างสวยงามถึง 85 ตัน
ส่วนในปีที่ 3 พวกเราจะก้าวไปอีกขั้นด้วยการผลักดันให้ประกาศมาตรการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ ที่จะช่วยลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกันอย่างจริงจังมากขึ้น อย่างถุงพลาสติกที่จะงดแจกถุงพลาสติกฟรีทุกร้านค้าในเขตพื้นที่การศึกษา (ยกเว้นสำหรับของร้อนพร้อมทาน) งดใช้ภาชนะโฟมและถุงพลาสติกประเภท oxo และลดการแจกหลอดหรือช้อนส้อมพร้อมสินค้า จะให้ก็ต่อเมื่อลูกค้าร้องขอเท่านั้น โดยในเขตพื้นที่การศึกษาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคมนี้
“ทีมงาน CHULA zero waste ขอเชิญชวนให้ชาวจุฬาฯ ช่วยกันคนละนิดละหน่อย ทั้งการพกถุงผ้าติดตัวไว้ รวมถึงการเปลี่ยนจากทีมติดหลอดเป็นทีมยดซด ขยันพกกระบอกน้ำไว้กดน้ำดื่มสะอาดฟรี ซึ่งยังใช้เป็นส่วนลดเวลาซื้อเครื่องดื่ม ทั้งหมดนี้มีส่วนในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ เป็นการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนและยังช่วยให้เรามีขยะฝังกลบบนแผ่นดินน้อยที่สุด เพื่อลดมลพิษจากขยะพลาสติก”
“ส่วนใครลดขยะคนเดียวแล้วรู้สึกว่าเหงาๆ ก็เข้ามาร่วม Chula zero waste challenge ซึ่งมีเพื่อนๆ ชาวจุฬาฯ แชร์ไอเดียลดขยะในชีวิตประจำวัน รับรองไม่เดียวดายแถมยังได้ของรางวัลอีกด้วย
อ่านประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งฯ ได้ที่ https://bit.ly/2Cz5vjN #CHULAzerowaste