ล่าสุด 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส คือยาฆ่าหญ้าและกำจัดศัตรูพืช ยังได้รับอนุญาตให้ใช้ต่อไป แม้จะมีความพยายามให้ยกเลิกการใช้ เมื่อสารเคมีทางการเกษตรยังคงอยู่คู่กับการทำการเกษตรของประเทศไทย และในขณะที่มีการรณรงค์ให้ผู้คนรับประทานผักและผลไม้เพื่อสุขภาพ แต่สารตกค้างที่มีอยู่ในผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีจากยาฆ่าแมลง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส หรือสารโลหะหนักอื่นๆ ที่ปะปนมากับผักและผลไม้ สามารถก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
การล้างผักผลไม้ก่อนนำไปรับประทานหรือประกอบอาหาร จึงมีความสำคัญอย่างมาก ไปดูว่า 10 วิธีล้างผักผลไม้ให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างมีวิธีใดบ้าง
1๐ ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกิ้งโซดา) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20) ลิตร แช่นาน 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 90-95 แต่การใช้เบกิ้งโซดาซึ่งมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่อาจดูดซึมเข้าสู่ผักหรือผลไม้ และหากล้างไม่สะอาด การได้รับเบกิ้งโซดาปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้
2๐ การใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5% โดยนำกรดน้ำส้มผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดปริมาณสารพิษลงร้อยละ60-84 แต่ผักอาจมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมาและผักบางอย่าง เช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชูทำให้รสชาติเปลี่ยนไป และภาชนะที่ใช้ล้างผักไม่ควรเป็นพลาสติก
3๐ ล้างผักโดยน้ำไหลผ่าน ด้วยการเด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่ง เปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูกไปมาบนผิวของผักผลไม้นานประมาณ 2 นาที สามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 25-63 วิธีนี้เป็นวิธีที่เรียกได้ว่าดีมากวิธีหนึ่ง แต่มีข้อเสียอยู่ว่าใช้เวลานานในการล้างผักและใช้น้ำปริมาณมาก
4๐ การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 27-72
5๐ วิธีการต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน สามารถลดปริมาณสารพิษได้ประมาณร้อยละ50แต่จะทำให้ผักหรือผลไม้เสีนคุณค่าทางอาหารไปกับน้ำและความร้อน เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 ไนอะซิน
6. ใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ 1 ช้อนชา ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 35-50
7๐ การใช้ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) ซึ่งเป็นสารประกอบประเภทเกลือ มีลักษณะเป็นเกล็ดแข็งสีม่วง ใช้ปริมาณ 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดสามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 35-43 แต่การใช้ด่างทับทิมในปริมาณมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร และหากสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมเข้าไปมากก็จะทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ หรือหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
8๐ แช่น้ำซาวข้าวนาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 35-43
9๐ ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดสารพิษได้ร้อยละ 27-38 วิธีการนี้ลดปริมาณสารพิษได้ไม่มากและอาจมีเกลือและรสเค็มติดอยู่ในผักหรือผลไม้
10๐ วิธีการแช่ผักในน้ำยาล้างผักที่วางขายทั่วไป โดยใช้ความเข้มข้น 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักประมาณ 15 นาที จะลดสารพิษได้ร้อยละ 25-75 แต่ต้องระวังว่าน้ำยาล้างผักมีส่วนประกอบจากอะไรบ้าง เพราะหากน้ำยาล้างผักแทรกซึมเข้าผักจะเป็นอันตรายได้
การเลือกใช้วิธีล้างผักและผลไม้วิธีใดก็ขึ้นกับความสะดวกของแต่ละคน และแต่ละวิธีสามารถช่วยลดปริมาณของสารตกค้างต่างกัน อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย อย่ากินซ้ำๆ กันมากเกินไปนัก เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
ข้อมูลจาก กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา