xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม“นกเงือก”เป็นสัญลักษณ์รักแท้-ตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมดกว่า 54 สายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศของป่า ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก และด้วยลักษณะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของนกเงือกเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต นกเงือกจึงเป็นตัวแทนของความรักแท้ที่มั่นคง

“นกเงือก” เป็นสัญลักษณ์แห่ง " รักแท้" เพราะเมื่อนกเงือกจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้ว จะผูกพันกันแค่ 2 ตัวตลอดชีวิต จะใช้ชีวิตคู่แบบ "ผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย

นกเงือกมีบทบาทเด่นในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงสามารถนำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ และเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าได้ทั่วป่า นกเงือกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่พันธุ์ของพืช ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่า และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ

นกเงือกเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด จึงทำให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก และเพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชน จึงกำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

นกเงือก (Hornbills) เป็นนกที่เชื่อกันว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว นกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว หางยาว ปีกกว้างใหญ่ จะงอยปากหนาใหญ่ และมีส่วนหัวใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอน ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่างๆ ส่วนใหญ่บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้าๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เป็นอาหารเสริม

นิสัยที่เป็นจุดเด่นของนกเงือก คือเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว ซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนวันตาย นอกจากนี้ยังมีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือเมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา

“นกเงือก” ยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ด้วย เพราะนกเงือกอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในป่าได้อย่างดี เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้หลากหลาย และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ นั่นเอง

ข้อมูลและภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช , www.seub.or.th และ th.wikipedia.org


กำลังโหลดความคิดเห็น