Tour De Farm ที่ จ.เชียงใหม่ รูปแบบการขับเคลื่อน ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม (Organics Tourism) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ดึงเอาผู้ผลิต คือเกษตรกร และผู้บริโภค คือธุรกิจท่องเที่ยว ได้มาทดลองเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของสามพรานโมเดลในการเชื่อมโยงคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อสร้างชีวิตที่สมดุลอย่างยั่งยืน
สามพรานโมเดลมองว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เป็นกุญแจที่จะไขไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างระบบอาหารสมดุล นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม? สามพรานโมเดลถึงก้าวออกมาขับเคลื่อนที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวหลักของภาคเหนือ
อรุษ นวราช หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ฟู๊ดแล็บ และเลขานุการมูลนิธิ สังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มสามพรานโมเดล บอกว่าอยากให้ดูข้อมูลสถิติแต่ละปีที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศหมุนเวียนเดินทางไปใช้บริการโรงแรม ร้านอาหาร ที่พัก และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย จำนวนมากกว่าปีละ 100 ล้านคน โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต จึงเป็นจุดสัมผัสสำคัญของผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเป็นฮับในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน รวมถึงยังสามารถใช้เป็นจุดขายของร้านอาหาร หรือโรงแรม ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้ด้วย
เขาเล่าว่า ในระยะเวลาราว 1 ปี ที่ผ่านมา เป็นที่น่าดีใจที่มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ในพื้นที่เป้าหมายคือ กรุงเทพและเชียงใหม่ ตื่นตัวเรื่องการบริโภคอินทรีย์ และท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล พวกเขาเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ เรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรอินทรีย์ตัวจริงเสียงจริง ได้รับรู้ถึงปัญหาและโอกาส ที่ทำให้เกิดความสนใจที่จะขับเคลื่อนตามบริบท และความพร้อมของแต่ละแห่ง เช่น เปลี่ยนจากการซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง มาซื้อตรงจากเกษตรกร การเปลี่ยนเมนูให้เป็นเมนุอินทรีย์ ใช้ข้าวอินทรีย์ และการทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อสร้างสังคมอินทรีย์ในชุมชน
“สิ่งที่เราพยายามย้ำให้ทุกแห่งเข้าใจ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล หรือ (Organic Tourism) มิใช่เพียงเรื่องของการพานักท่องเที่ยวลงไปเที่ยวฟาร์มอินทรีย์เท่านั้น แต่เป็นการสร้าง Change Agent หรือวิถีอินทรีย์ให้เกิดขึ้น ซึ่งโรงแรม ร้านอาหารแต่ละแห่งเขาสามารถที่จะออกนอกกรอบเดิมๆ แล้วเข้ามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เพื่อสร้างระบบอาหารที่สมดุล ที่ให้คุณค่ามากกว่าการบริโภค แต่ยังช่วยสร้างระบบอาหารสมดุล เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช้สารเคมี ไม่เป็นหนี้ มีสุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี”
ปัจจุบันเรามีโรงแรม ร้านอาหาร ชั้นนำในกรุงเทพมหานคร มาร่วมขับเคลื่อน Orgnic Tourism อาทิ โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล โรงแรมอนันตราสยามกรุงเทพ โรงแรม เดอะสุโกศล โรงแรมในเครือดุสิตธานี อินเตอร์เนชั่นแนล ร้านอาหารเอส แอนด์ พี เอ็มเค เรสโตรองต์ โดยเริ่มจากการที่ผู้บริหาร ฝ่ายจัดซื้อ และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ของแต่ละแห่ง ลงพื้นที่มาเรียนรู้ มาทำความเข้าใจเกษตรกรอินทรีย์ เข้าใจข้อจำกัดของการผลิต เข้าใจคุณค่าของพืชผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์ จากนั้นก็เริ่มมีการเชื่อมโยง มีการสั่งซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร ภายใต้การประสานงานของ มูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งทำหน้าที่เป็น Facilitator ให้ทั้งสองส่วน มีความเข้าใจกันและสามารถทำงานร่วมกันได้
ขณะที่ในเชียงใหม่ มีโรงแรงแรมบูทีค ร้านอาหารที่สนใจเรื่องอาหารอินทรีย์อยู่แล้ว สนใจมาร่วมขับเคลื่อน อาทิ โรงแรมแทมมาริน โรงแรมรายาเฮอริเทจ รีสอร์ท โรงแรม 137 พิลล่าร์เฮาส์ โรงแรมครอสทู โรงแรม วิลล่ามหาภิรมย์ อันจะกินวิลล่า จินเจอร์ฟาร์ม ซาร่าคิทเช่น โดยมีวิสาหกิจเพื่อสังคม เจียงใหม่ ออร์แกนิก ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมร้อยให้ ผู้บริหาร และเชฟ มาเรียนรู้ร่วมกัน และทำงานร่วมกัน โดยนอกจากการพาลงพื้นที่ไปพบเจอเกษตรกรอินทรีย์ตัวจริง ก็มีการสร้างสรรค์กิจกรรม Organic Chef’s Table ที่เชฟของโรงแรม ร้านอาหาร ในโครงการมาทำงานร่วมกันในการสร้างสรรค์เมนูออร์แกนิก จากพืชผักพื้นบ้าน พืชผักตามฤดูกาล มีการเรียนรู้บริบทที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องคำนึงถึงป่าต้นน้ำ การกินตามฤดูกาล และชุมชน
แม้การขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ในพื้นที่ในกรุงเทพและเชียงใหม่ จะใช้สามพรานโมเดล เป็นเครื่องมือ และต้นแบบ ที่เน้นให้มีการเชื่อมโยงทั้งคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่จากบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งเชียงใหม่ สามารถเข้าถึงตลาดอินทรีย์ได้ง่าย จากการมีตลาดนัดอินทรีย์มากมาย ก็ทำให้รูปแบบการขับเคลื่อนของเชียงใหม่และกรุงเทพไม่เหมือนกัน ขณะที่ความรวดเร็วและพัฒนาการขับเคลื่อนของแต่ละแห่งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่น หรือ อุดมการณ์ของเจ้าของกิจการ ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนนั้นมีความต่อเนื่อง หรือขยายผลออกไปได้ในวงกว้าง
อรุษ ย้ำว่า เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจถึงกระบวนการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ภายใต้ Organic Tourism ที่ได้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม และมีตัวอย่างในการขับเคลื่อน มีพื้นที่ให้เรียนรู้ และเพื่อการขยายผลออกไปในวงกว้าง จึงได้มีการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อน Organic Tourism ในเชียงใหม่
“เราอยากให้ทุกคนได้เห็นวิถีการขับเคลื่อน คุณค่า ปัจจัยการขับเคลื่อน นวัตกรรมความคิดใหม่ๆ รวมถึงเข้าใจมิติของการทำเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นมากกว่าการผลิตอาหาร แต่สู่การสร้างเป็นวิถีชีวิต ตลอดจนได้เห็นการขยายต่อยอดสู่การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ที่ไม่ใช่เพียงการพาผู้บริโภคลงไปเที่ยวฟาร์ม แต่เป็นการปูทาง ยกระดับให้ผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน คือ เปลี่ยนจาก เป็น Active Consumer ให้กลายมาเป็น Organic Social Mover ตามบริบท ความสนใจของแต่ละคน”