แนวคิดการพัฒนาตามศาสตร์พระราชาได้รับการพูดถึงตลอดเวลา ในประเทศไทย รายการทีวีทุกวันศุกร์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีสื่อสารกับประชาชนทั้งประเทศก็ใช้ชื่อ ‘ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’
นอกจากนี้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy philosophy) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสตร์พระราชาก็ได้รับการเผยแพร่ในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่คงต้องยอมรับว่าเรายังอาจได้ยินบางเสียง โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่แสดงถึงข้อกังขา เช่น “...คุณบอกว่าดีเป็นเพราะว่าคุณศรัทธาพระมหากษัตริย์ของคุณใช่หรือไม่ คุณสามารถพิสูจน์ได้มั้ยว่าดีจริง คุณมีงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบที่แสดงไหมว่าศาสตร์พระราชาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นจริง ไม่ใช่เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว...”
จึงเป็นความท้าทายของนักวิจัยไทยที่จะพิสูจน์คุณูปการของศาสตร์พระราชาต่อวงการวิชาการระดับนานาชาติ
โดยปกติงานวิจัยสามารถทำได้สองแนวทาง คือการศึกษาเชิงคุณภาพ (qualitative study) และการศึกษาเชิงปริมาณ (quantitative study) แนวทางแรกพอจะมีการศึกษาบ้าง อย่างไรก็ตามการศึกษา “ศาสตร์พระราชา” ด้วยวิธีการเชิงปริมาณโดยมีระเบียบการวิจัยที่ชัดเจนและมีความเป็นวิทยาศาสตร์กลับมีน้อยมากหรือไม่มีเลย
มูลนิธิมั่นพัฒนาจึงได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์พระราชาและการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นแนวทางการพัฒนาของโลกปัจจุบัน โดย TDRI ได้เริ่มกระบวนการศึกษาด้วยการสร้างตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนา หรือ Sustainability Community Indicators (SCI)
ตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนาประกอบด้วยสองส่วน คือ (ก) กลุ่มตัวชี้วัดที่สะท้อนแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของปัจเจกตามศาสตร์พระราชา เรียกชื่อย่อว่า SCI-S4S และ (ข) กลุ่มตัวชี้วัดที่แสดงผลลัพธ์การพัฒนาที่สำคัญ เช่น สุขภาพ การศึกษา ความสุข ความเท่าเทียมในสังคม เป็นต้น เรียกชื่อย่อว่า SCI-OC การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวชี้วัดสองกลุ่มนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์พระราชาและการพัฒนาที่ยั่งยืน
กลุ่มตัวชี้วัด SCI-S4S นั้น TDRI พัฒนาจากแนวคิดศาสตร์พระราชาที่สำคัญสองประการคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วย ‘3 ห่วง 2 เงื่อนไข’ และ ‘หลักการทรงงาน 23 ข้อ’ โดยมีทั้งหมด 15 มิติย่อย ส่วนกลุ่มตัวชี้วัด SCI-OC มีทั้งหมด 12 มิติย่อย
วิธีการสร้างตัวชี้วัด เริ่มจากการศึกษา ‘ความหมาย’ ของมิติย่อย 15 มิติของศาสตร์พระราชาที่เลือกมา เช่น ความหมายของคำว่า ‘ความพอประมาณ’ ‘การมีภูมิคุ้มกัน’ ‘การระเบิดจากภายใน’ เป็นต้น จากนั้นจึงนำความหมายมาแปลงเป็นพฤติกรรม ความคิด ทัศนคติ ของคนทั่วไป เช่น ความพอประมาณหมายถึงการระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็นต้องใช้เพียงเพราะว่าคนอื่นเขามีกัน จนกลายเป็นหนี้เป็นสิน
ในลำดับถัดมาจึงเป็นการสร้างคำถามในแบบสอบถามว่าด้วย พฤติกรรม/ความคิด/ทัศนคติ ด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายและคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และที่สำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงการใช้คำที่เชื่อมโยงไปถึงศาสตร์พระราชา (เช่น คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง) ที่อาจทำให้ชาวบ้านมีธงคำตอบอยู่ในใจจนไม่สามารถได้คำตอบที่แท้จริงได้ โดยแบบสอบถามนี้ได้นำไปใช้สำรวจครัวเรือนเกือบ 70,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา ขนาดตัวอย่างที่ค่อนข้างมากนี้ทำให้สามารถนำเสนอตัวชี้วัดได้ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค จนถึงระดับจังหวัดโดยยังรักษาความแม่นยำทางสถิติได้
ในภาพรวมของการศึกษาพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีคะแนนในการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชามากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ภาคกลางที่มีคะแนนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในแต่ละมิติย่อยในแต่ละด้านของการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาพบว่ามิติในเรื่องของความรอบคอบระมัดระวังมีคะแนนสูงที่สุด มิติด้านความเพียรเป็นอันดับที่สองตามมา
อย่างไรก็ตามในบางมิติการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชายังคงได้รับคะแนนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมิติการพัฒนาอื่น เช่น ด้านการแบ่งปัน ด้านความซื่อสัตย์ เป็นต้น ในส่วนนี้สามารถนำมาใช้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมศาสตร์พระราชาในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ในเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างแนวทางการปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาและผลลัพธ์การพัฒนา จากการศึกษาด้วยวิธีการทางสถิติพบว่า การปฏิบัติตาม “ศาสตร์พระราชา” นำไปสู่ผลการพัฒนาที่ดีขึ้นในเกือบทุกมิติ เช่น ความสุขความพอใจ รายได้ การหลุดพันความยากจน โอกาสทางการศึกษา ทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งผลดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งในการยืนยันว่าศาสตร์พระราชานำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงความเชื่อที่ไม่มีหลักฐาน
การจัดทำตัวชี้วัดชุมชนมั่นพัฒนาจึงเปรียบเสมือนการสร้างรูปธรรมแก่องค์ความรู้ที่มีค่าของสังคมไทยให้เป็นที่สิ่งจับต้องและเห็นภาพได้ชัดเจน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตัวชี้วัดไม่เพียงแต่เป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาภายในประเทศเท่านั้น หากแต่สามารถนำไปเผยแพร่ในเวทีนานาชาติ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาตามบริบทของพื้นที่อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคมโลกต่อไป
ดร.สมชัย จิตสุชน และคณะ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
(จากการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการ “ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัดความยั่งยืนชุมชนมั่นพัฒนา”)