ขณะนี้ใกล้เทศกาลต้อนรับปีใหม่ ถ้าจะใช้โอกาสได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากรายการโปรโมชัน “ชอปช่วยชาติ” วงเงิน 15,000 บาท ซื้อสินค้าที่กำหนด มีคำถามว่าจะซื้ออะไรคุ้มสุด
ขอแนะนำเต็มที่เลยครับว่าให้ “ซื้อหนังสือ” จะใส่กระเช้าของขวัญหรือห่อด้วยกระดาษสวยๆ มอบแก่คนที่รักและนับถือ หรือซื้อเพื่อตัวเองก็ยังได้ เป็นการสนับสนุนโครงการมอบหนังสือเป็นของขวัญ (Book for Gift)
ธุรกิจหนังสือมีรายการให้เลือกซื้อตามร้านหนังสือหรือสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต มีบริการจัดหมวดหมู่ให้เลือกได้ตามความนิยมชมชอบ ทั้งประเภทความรู้ (เช่น การจัดการธุรกิจ ดูแลสุขภาพ ดูแลต้นไม้ ดอกไม้ ฯลฯ) ความบันเทิงเริงรมย์ (เช่น นวนิยาย การท่องเที่ยว) พัฒนาความคิดและจิตใจ (เช่น ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม)
หนังสือจึงเป็นของขวัญของฝากที่มีมูลค่า แม้ว่ายุคนี้สามารถอ่านได้จากรุปแบบ E-book ก็ตาม แต่คนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งผมเองก็ยังชอบจับต้องรูปเล่มหนังสือที่หยิบเปิดอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา
ตอนนี้ร้านหนังสือต่างๆ พากันจัดรายการ จัดชุดหนังสือของขวัญและให้ส่วนลดต้อนรับบรรยากาศปีใหม่กันทั่วหน้า เมื่อนำใบเสร็จที่มียอดซื้อหนังสือไปลดหย่อนภาษีได้อีก ก็เป็นการรับโปรโมชัน 2 ชั้น
ดังนั้น หากบริษัทหรือองค์กรของรัฐและหน่วยราชการ จะสนับสนุนจัดซื้อหนังสือเป็นของขวัญแก่ผู้เกี่ยวข้อง หรือซื้อไปบริจาคห้องสมุด หรือองค์กรสาธารณะกุศลเช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิเด็ก เป็นต้น ก็จะเป็นการดี 2 ชั้นเช่นกัน
ยิ่งเมื่อคำนึงถึงหลักการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ที่ระบุว่า ….
“การเตรียมพร้อมด้านกำลังคนและการเสริมสร้างศักยภาพของประชากรในทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการยกย่องระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ หล่อหลอมให้คนไทยเป็นคนดี มีสุขภาวะที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัยและมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมส่วนรวม สามารถพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้”
การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ด้วยการหล่อหลอมความใฝ่รู้ตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโต ความงดงามของรูปแบบวรรณศิลป์และเนื้อหาที่เสริมสร้างความรู้และสติปัญญา จะช่วยหล่อหลอมความเป็นคนดีและเก่งได้
หากยอมรับและตระหนักรู้กันว่า รัฐจำเป็นต้องสร้างเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรไทยตั้งแต่ “จากครรภ์มารดา จนถึงเชิงตะกอน” ดังที่ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนไว้ในบทความอมตะของท่าน
การส่งเสริมการอ่านและความรอบรู้ ก็เป็นกลยุทธ์ที่รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันส่งเสริม ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว องค์กรเอกชน องค์กรรัฐและผู้บริหารภาครัฐทุกระดับ
ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายหนังสืออาจถูกมองว่า “เป็นเพียงธุรกิจประเภทหนึ่ง” การคิดเช่นนี้ก็อาจ “ไม่ผิด” แต่ “ไม่ใช่” สินค้าธรรมดาทั่วไป เพราะหนังสือเป็นผลิตภัณฑ์สื่อประเภทหนึ่งที่รัฐต้องมีนโยบายสร้างกลไกและมาตรการที่เอื้อต่อการเป็น “สื่อสร้างสรรค์” การเรียนรู้และสร้างค่านิยมที่ดี จนมีผลต่อพฤติกรรมที่ใฝ่ดีและใฝ่พัฒนา
หวังว่า “การปฏิรูปการศึกษา” ยุครัฐบาลใหม่จะเป็นความหวังที่เป็นจริงที่จะมีการส่งเสริมการงานและการสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ใส่เข้าไปในระบบการเรียนและการประเมินผลของหลักสูตรตั้งแต่ระดับเด็กเล็กจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย
ข้อคิด...
มาตรการของรัฐบาลในการ “ส่งเสริมการอ่าน” โดยผ่านกลยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจ “ชอปช่วยชาติ” งวดส่งท้ายปี 2561 ที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้จนถึง 15 มกราคม 2562 ผมอยากจะเรียกว่า “นโยบายการคลังเพื่อการส่งเสริมคุณภาพคนไทย”
ขณะที่รัฐบาลนี้กำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายThailand 4.0 ที่จะขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและก้าวทันยุคดิจิทัล
แต่การจะเกิด “ประเทศไทย 4.0” ได้นั้น จะต้องสร้างให้มี “คนไทย 4.0” ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่พร้อมเป็น “โอกาส” ไม่ใช่เป็น “อุปสรรค”
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จึงได้รับลูกรณรงค์ให้ “อ่านสร้างชาติ” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและโชคดีที่รัฐบาลนี้สนใจ
การที่รัฐบาลอนุมัติมาตรการนี้จึงเป็นความฉลาดที่สนับสนุนโครงการที่มีคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะภาษีที่ลดหย่อนไปแก่ผู้ซื้อหนังสือ ก็จะได้ภาษีธุรกิจเข้ารัฐบาลมากกว่าภาษีที่ลดหย่อนไป เพราะห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain)
นักเขียน นักแปล นักออกแบบ นักวาดภาพประกอบและธุรกิจการพิมพ์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การส่งเสริมการอ่าน” เป็นการสร้างเสริมความคิด ความรอบรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
หวังว่าจะมีมาตรการภาษีเพื่อพัฒนาสังคม ในการสร้างคุณภาพคนอย่างต่อเนื่องและส่งเสริม “การอ่าน การใฝ่เรียนรู้” สั่งสมกลายเป็นวัฒนธรรมอยู่ในคุณสมบัติของคนไทย
suwatmgr@gmail.com