xs
xsm
sm
md
lg

พุทธมรรคพุ่งเป้า SDGs ช่วยชาวโลกตอบโจทย์UN

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)
ในสังคมปัจจุบัน มีความกลัวกังวลกันมากขึ้นว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจหาได้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ จำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายหันมาให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนา (ทางเศรษฐกิจ) ที่ยั่งยืนมากกว่าเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจล้วนๆ อย่างในอดีต

ปัจจุบันนี้การพัฒนาของเราถูกขับเคลื่อนบนพื้นฐานของ GDP แต่ที่น่าเสียดายก็คือ การพัฒนาโดย GDP นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมเช่นกัน เราเห็นอยู่ตลอดว่า ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีความสุขด้วย การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้รับประกันความสุขของคนด้วย

เพราะฉะนั้น โลกกำลังค้นหารูปแบบการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนามนุษย์อย่างบูรณาการ คือ การพัฒนาที่มีความสมดุลทั้งทางวัตถุและจิตใจ รูปแบบการพัฒนาที่รับประกันทั้ง GDP และ GNH ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 องค์การสหประชาชาติบรรลุข้อตกลง และประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้บรรลุภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีเป้าหมายทั้งหมด 17 เป้าหมายและเป้าประสงค์ 169 ข้อ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่โลกเผชิญอยู่ทุกวันนี้

เป้าหมายสากลทั้ง 17 เป้าหมายนี้ สรุปออกมาเป็นเรื่องของ 5 P คือ People, Planet, Prosperity, Peace, and Partnership หรือ ประชาชน โลก ความเจริญ สันติภาพ และความร่วมมือซึ่งกันและกัน

แน่นอนว่า นโยบายเป็นเพียงคำพูดในกระดาษถ้าไม่นำเอาไปใช้อย่างจริงจัง เพื่อการนี้ ขีดความสามารถของคนต้องสร้างขึ้นมา รัฐบาลต้องพัฒนา ประชาชาติต้องร่วมมือ และแม้งบประมาณจะไม่ใช่เป็นทุกสิ่ง แต่ก็ขาดเสียไม่ได้

ที่สำคัญยิ่งบทบาทของจิตวิญญาณหรือศาสนาต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไรเล่า คนส่วนใหญ่มักมองว่า เรื่องการศาสนาและการพัฒนาเป็นคนละเรื่องกัน ในทางตรงกันข้าม ผู้ฉลาดมักใช้บทบาททางจิตวิญญาณและศาสนา นำไปเป็นปัจจัยเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแทน แต่ที่แน่ ๆ ก็คือว่า เป้าหมายสากลนี้จะง่ายต่อการบรรลุก็ต่อเมื่อให้ศาสนาแสดงบทบาทได้อย่างเต็มที่ ศาสนาย่อมเกื้อหนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะในการบรรลุความสำเร็จทางวัตถุ แต่นำมาซึ่งความสุขของโลกด้วย

ในขณะที่โลกกำลังโลดแล่นไปด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นเจ้าของ “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” ของสหประชาชาติ พระองค์แรกของโลก ซึ่งได้สมัญญานามว่า “พระมหากษัตริย์แห่งการพัฒนา” ได้พระราชทานพิมพ์เขียวสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมพระราชทานที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในเรื่องนี้ มาดาม อิรีนา โบโควา อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ได้สดุดีพระองค์ไว้ว่า

“พระองค์ได้พัฒนาพระราชวิสัยทัศน์ และพระราชทานกุญแจสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาย ใน ปี พ.ศ. 2573 ในเรื่องนี้ดิฉันขอขอบคุณคณะผู้แทนไทยประจำองค์การยูเนสโก และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกที่จัดประชุมตามสมสมัยในครั้งนี้

พระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน มิใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วสากลโลก พระองค์ทรงได้สร้างประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 แต่พระราชวิสัยทัศน์ของพระองค์ ซึ่งดิฉันจะเรียกว่า พระอัจฉริยภาพมากกว่า จะสร้างประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย

พระองค์ทรงพระราชทานพระราชวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนามนุษย์อย่างบูรณาการ เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสมีอำนาจที่จะบรรลุความเท่าเทียมกันทางสังคม ด้วยการท้าทายรูปแบบของการพัฒนาการทั่ว ๆ ไปที่ใช้กันอยู่ แนวพระราชดำรินี้สอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่ได้ตั้งเป้าให้บรรลุภายใน ปี พ.ศ. 2573 ซึ่งประกาศไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 นับเป็นการตั้งพระราชปณิธานและพระราชทานแบบพิมพ์เขียวที่ชัดเจน ในการพัฒนาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปกป้องโลกของเรา”

เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หาใช่เป็นอย่างอื่นไม่ แต่เป็นการนำเอาหลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา พระราชทานในรูปแบบของโลกิยวิสัย ความพอเพียงเป็นภาษาโลกิยวิสัยสำหรับคำว่า ศีล หรือปกติ คือการมีชีวิตอยู่ด้วยการสังวรด้วยจริยธรรม นำไปสู่การเว้นพฤติกรรมที่นำไปสู่ความหายนะ วิถีนำหลักนี้มาใช้ก็คือ การปฏิบัติให้มีพฤติกรรมทางสร้างสรรค์เป็นหลัก

“เศรษฐกิจ”เป็นภาษาทางโลกที่มีความหมายว่า“สมาธิ” และตามรากศัพท์ในภาษาอังกฤษ “เศรษฐกิจ”แปลว่า การบริหารจัดการครัวเรือนหรือชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ จึงได้นำความหมายในทำนองเดียวกันเป็นภาษาไทย คือ เศรษฐกิจ ซึ่งแปลว่า การบริหารกิจอันประเสริฐ พระพุทธศาสนาได้อธิบายไว้ว่า กิจอันประเสริฐก็คือ การบริหารจิต คือ สมาธิ นั่นเอง

“ปรัชญา” เองก็เป็นคำทั่วๆ ไป หมายถึง“ปัญญา” หรือ “การรู้เท่าทันธรรมชาติของจิต” พลังปัญญาทำให้คนแยกแยะระหว่างสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ควรเว้น ความหมาย ก็คือ “มีเหตุผลที่สมบูรณ์แบบในการคิดและการตัดสินใจ”

ฉะนั้น “ความพอเพียง” ก็คือ “ชีวิตที่เป็นปกติเพียงพอ” คือมีไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป เรียกว่า “ศีล” แปลว่า “ปกติ” และ “เศรษฐกิจ” คือ “กิจอันประเสริฐ” กล่าวคือ การเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน เรียกว่า สมาธิ ปรัชญา คือการทำความเข้าใจให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตามธรรมชาติความเป็นจริง

“เศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “หลักไตรสิกขา” ของพระพุทธศาสนา นำไปสู่การปฏิบัติตามหลักของ “มรรคมีองค์แปด” ฉะนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” ทำให้ส่วนต่างๆ ของความเป็นมนุษย์แปดด้านเกิดการพัฒนา ในทางของ “การพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการ” คือ มีการพัฒนาทางการสื่อสาร การกระทำ การอาชีพ ความเพียรพยายาม การเจริญสติ การมีสมาธิ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการคิดทำที่ถูกต้อง

กล่าวโดยทั่วไป “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้โดยง่าย เพราะเป็นคำย้อนแย้งในตัว เป็นคำสองคำที่คัดแย้งในตัว ฉะนั้น จำเป็นยิ่งที่จะต้องพิจารณาเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างลึกซึ้ง

ตามหลักนิรุกติศาสตร์ คำว่า sustain หมายถึง กิจกรรมใด ๆ ก็ตามทำอย่างมีพื้นฐานรองรับอย่างมั่นคง กล่าวคือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หมายถึงการพัฒนาใดก็ตาม ที่พัฒนาด้วยความสมดุลมีพื้นฐานรองรับ ซึ่งจะทำให้เป็นการพัฒนาที่ไม่มีผลเสียต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เหมือนรูปแบบการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต

ในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาก็คือ การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงนั่นเอง กล่าวให้ชัดเจนก็คือว่า เมื่อตามหลักนิรุกติศาสตร์ ในภาษาละติน sustain มาจากคำว่า tenere และเป็นคำเดียวกันกับรากศัพท์ว่า ธร ธาตุ ในภาษาสันสกฤต/บาลี ซึ่งต่างมีความหมายเดียวกันว่า “สภาพที่ทรงไว้”

เมื่อ “ธรรม” แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้” หรือ sustaining ในภาษาอังกฤษ เราอาจพูดได้ว่า “พุทธธรรม” ก็คือ คำสั่งสอนที่ก่อให้เกิด sustainability หรือการพัฒนาตามธรรม (คือความยั่งยืน) พูดอีกนัยหนึ่ง “คำสอน”ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ก็คือ“คำแนะนำ” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง ฉะนั้น ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เมื่อแปลตามพยัญชนะ ก็แปลได้ตรง ๆ ว่า เป็นพระสูตรที่ว่าด้วย “การปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” นั่นเอง


ที่มา - การแสดงมุขกถาเรื่อง “การตีความใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” โดย พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ในการประชุมนานาชาติ เรื่อง“พุทธมรรคสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (The Buddhist Path to Sustainable Development Goals)


กำลังโหลดความคิดเห็น