xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยตอบโจทย์อนาคตยางพาราไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โดย - ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ไทยส่งออกยางพารามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก “ยางพารา”จึงเป็น "พืชเศรษฐกิจ”สำคัญของไทยที่มีการส่งออกปีละกว่า 4 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณการส่งออกทั้งโลก นอกจากนี้ ยังมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน และมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่ราคายางพาราตกต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 เพราะความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางมาตลอด เช่นเดียวกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพารามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มการใช้ยางพารา ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ และมีผลกระทบต่อประเทศ

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สกว.จัดสรรทุนวิจัยประมาณ 350 ล้านบาท ให้แผนงาน/ฟโครงการวิจัยด้านยางพารารวม 237 โครงการ มีนักวิจัยจำนวน 165 คน ผู้ร่วมวิจัย 319 คน จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานทั่วทุกภาค 46 หน่วยงาน มีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ครบทั้ง 5 ด้าน โดยตัวอย่างงานวิจัย “ด้านพาณิชย์” ได้แก่ “โครงการยางล้อตันประหยัดพลังงาน” ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ประมาณ 300 ล้านบาท และ“โครงการเตาอบไม้ยางพาราทั้งระบบ” สร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 95 ล้านบาท รวมถึง “โครงการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถังผ่านมาตรฐานสากล” โดยมีต้นทุนต่ำกว่าการจัดหาจากต่างประเทศร้อยละ 40 นอกจากนี้ ยังมี“โครงการพัฒนายางขอบประตูเรือหลวงที่มีสมบัติเป็นไปตามมาตรฐาน MIL-R-900F” เพื่อใช้ในงานซ่อมบำรุงของกองทัพเรือ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว.
“ด้านชุมชนพื้นที่” ได้แก่ “โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากการหมักมูลสุกรร่วมกับน้ำเสียจากการผลิตยางแผ่นรมควัน” ที่สามารถคืนทุนได้ภายใน 3 ปีครึ่ง ปัจจุบันมีการนำไปใช้กว่า 30 แห่ง ประหยัดไม้ฟืนได้ 465 ล้านบาท ขณะที่ “ด้านวิชาการ” ได้แก่ “โครงการหุ่นจำลองทางการแพทย์หลายโครงการที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนและวางแผนรักษาโรคมะเร็ง” ราคาถูกกว่าต่างประเทศ 5-10 เท่า แต่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน รวมถึง “โครงการพัฒนายางพาราเพื่อออกแบบพื้นผิวและสีของตัวละครสำหรับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเทคนิคสต็อปโมชั่น” ซึ่งมีความยืดหยุ่นดีกว่าหุ่นตัวละครจากวัสดุสังเคราะห์

“ด้านสาธารณะ” ได้แก่ “โครงการวิจัยวนเกษตรแบบป่ายางพารา เป็นการปลูกพืชแซมยาง” เพื่อเป็นต้นแบบให้กับการปลูกยางพาราแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่น รวมถึง “โครงการวิจัยหุ่นยนต์กรีดยางพาราอัตโนมัติ” พร้อมพัฒนาเครื่องช่วยทุ่นแรงและอำนวยความสะดวกในการกรีดยางของเกษตรกร และ “ด้านนโยบาย” ได้แก่ “โครงการด้านการจัดการป่าไม้ระดับนานาชาติ” โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งภาครัฐสามารถนำไปใช้อ้างอิงและกำหนดเป็นนโยบายได้ รวมถึงโครงการวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางที่มีศักยภาพ โดยได้ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระดับประเทศ (มอก.) ของผลิตภัณฑ์ยาง 3 ฉบับ ได้แก่ ยางถอนขนไก่ (ฉบับปรับปรุง) ยางรัดเอวพยุงหลัง และแผ่นยางปูทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ และยังได้ร่างมาตรฐานยางถอนขนไก่ระดับระหว่างประเทศใน ISO/TC 45

“สกว.ให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัยยางพารา เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ เกษตรกรและสถาบันเกษตร ผู้ประกอบการยางพาราและไม้ยางพารา สามารถสร้างรายได้และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การบริหารจัดการทุนวิจัยอย่างมืออาชีพครบทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยพัฒนาทั้งเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพทางการตลาด การใช้สารประกอบที่ไม่ใช่ยางเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม งานวิจัยด้านนโยบายและการมาตรฐาน รวมถึงดำเนินการผลักดันงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ของ สกว.ไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์”

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเติมเต็มในเรื่องที่สำคัญและเป็นความต้องการของประเทศอย่างมาก นั่นคือ “การจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานนานาชาติ” โดย ผศ. ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร และ “การบริหารจัดการฐานข้อมูลยางพารา” โดย ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร ซึ่งเป็นการนำเสนอเชิงนโยบายในเรื่องจำเป็นเร่งด่วนทั้งสองเรื่อง เพราะมาตรฐานการจัดการสวนป่าระดับสากลกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงมีฐานข้อมูลยางพาราที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น