xs
xsm
sm
md
lg

คิด “แมคโคร” ทำ “ไมโคร” แก้ปัญหา น้ำแล้ง-น้ำหลากแบบยั่งยืน/ดร.รอยล จิตรดอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในฐานะองค์กรทำงานด้านการจัดการน้ำ เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำที่แล้วมา พวกเรามักมองกันจากมุมวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังขาดมุมมองด้านสังคมศาสตร์
มูลนิธิอุทกพัฒน์ พยายามแก้ปัญหานี้โดยทำงานผสมสานวิทยาศาสตร์เข้ากับหลักสังคมศาสตร์ ซึ่งแต่ละพื้นที่ยังมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้น เราจะต้องคิดแล้วทำอย่างเข้าใจธรรมชาติของน้ำ
มันคือการ คิดแบบ แมคโคร (Macro) และ ทำอย่าง ไมโคร (Micro)
คิดแมคโครคือ ต้องมีข้อมูลน้ำทั้งประเทศ ส่วนทำไมโคร หมายถึงการทำศูนย์ศึกษาขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางที่มูลนิธิฯ ทดลองทำกับพื้นที่ทิ้งร้างจนประสบความสำเร็จมาแล้ว นอกจากนี้ยังนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างยั่งยืน ซึ่งเราจะต้องเข้าใจธรรมชาติ ศึกษา และติดตามธรรมชาติ
ในการนำแนวคิดทางสังคมศาสตร์เข้ามาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปัญหาหนึ่งของการจัดการน้ำที่ประสบมายังเกิดขึ้นจากวิธีการทำงานแบบบนลงล่าง (top-down) ซึ่งเป็นรูปแบบของการทำงานที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยน หากว่าอยู่ภายใต้พันธกิจการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (water stewardship)
ควรจะเป็นทำงานในรูปแบบของสามเหลี่ยมความร่วมมือ โดยมี หน่วยงานที่มีองค์ความรู้ เช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก และภาครัฐ หน่วยงานราชการในพื้นที่เกี่ยวข้องซึ่งจำเป็นต้องขออนุญาต ชุมชน เมื่อเราทำงานร่วมกับคนในชุมชน หากพวกเขาไม่ให้ความร่วมมือ ย่อมไม่สานต่อการบริหารจัดการ และคงไม่ประสบความสำเร็จ กับอีกภาคส่วนสำคัญ คือ ภาคเอกชน ถือว่าสำคัญต่อการขับเคลื่อนมาก ถ้ารอแต่งบประมาณรัฐ คงยากที่จะให้งานไหลลื่น เดินหน้าเร็ว
โดยเฉพาะพื้นที่ประสบปัญหาน้ำนอกเขตชลประทาน ขอยกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ “โครงการรักน้ำ” เรามีบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมทำงานด้วย ที่ชุมชนบ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติและระบบชลประทาน ที่นี่เคยมีปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลาก ต้องแก้ปัญหาด้วยการขุดสระแก้มลิง ทำคลองส่งน้ำ และถนนน้ำเดิน ขณะที่ชุมชนบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ที่ถึงแม้จะมีคลอง หนองน้ำสาธารณะ และประตูควบคุมระดับน้ำจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะคลองและหนองน้ำตื้น ประตูควบคุมระดับน้ำชำรุด ต้องแก้ไขด้วยการพัฒนาหนองสาธารณะเพื่อกักเก็บน้ำสำรอง และซ่อมแซมประตูควบคุมระดับน้ำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างปีนี้ เราได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ในพื้นที่ต้นน้ำยม ที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ในขณะที่พื้นที่ต้นน้ำมีอ่างเก็บน้ำ มากกว่า 200 อ่าง และขาดการดูแลรักษา ตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำ และระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร อีกทั้งลุ่มน้ำยมขาดการบริหารจัดการน้ำและสำรองน้ำ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 10% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรมสูงถึง 2,214 ล้าน ลบ.ม. หรือสนองตอบความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
ทางมูลนิธิฯ จึงมีแนวทางในการพัฒนาใน 2 ด้าน คือ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้มีน้ำเติมแหล่งเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี และแก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างน้ำเดิมให้สามารถใช้งานได้ ตลอดจนการฟื้นฟูลำน้ำสาขา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินงานร่วมกับจังหวัดแพร่ องค์บริหารส่วนจังหวัดแพร่ ท้องถิ่น ท้องที่ และชุมชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กองทัพบก กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า กรมพัฒนาที่ดิน และกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย
คนภายนอกที่ดูอย่างห่างๆ อาจจะมองว่า ผู้ได้รับประโยชน์ คือคนในชุมชน แต่หารู้ไม่ว่า คนในเมืองก็ได้รับด้วย เพราะน้ำที่เคยหลากเข้าท่วมเมืองก็มีปริมาณน้อยลง
แนวทางการทำงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ อ้างอิงมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ มาขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ดร.รอยล จิตรดอน  กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์  ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ในหลวง รัชกาลที่ 9 รับสั่งกับผมว่า บริหารถนนก็เหมือนบริหารน้ำ ยิ่งเราสร้างถนน รถก็ยิ่งติด เหมือนกับสร้างไฮเวย์ แต่ไม่มีถนนซอย รถมันก็ยังจะติดเหมือนเดิม น้ำท่วมเหมือนเดิม แต่ถ้าเรามีถนนซอย เวลาน้ำเยอะ มันก็แบ่งออกไปได้ ถ้าเราไม่สร้างทางลัดให้เขา สร้างที่พักให้เขา เรายังมองแต่ไฮเวย์ นั่นคือการมองจากส่วนกลาง มองจากกรุงเทพฯ ถามว่าวันนี้กรุงเทพฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร ให้ย้อนกลับไปดูปี 2554 มันแก้ที่กรุงเทพฯ ได้ไหม ไม่ได้ ต้องแก้ที่นครสวรรค์ ต้องแก้ที่ลำปาง ต้องแก้ที่รังสิต มันต้องมี green belt แก้ปัญหาโลกร้อน ต้องเป็นกันชน”


กำลังโหลดความคิดเห็น