"นับเป็นครั้งแรกของ EA ที่ได้รับรางวัล Thailand's Top Corporate Brand 2018 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ถือเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้กับผู้บริหารและพนักงานทุกคนร่วมกันพัฒนา และขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน"
“พลังงาน” เป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลก แต่พลังงานที่ใช้กันทุกวันนี้ นอกจากกำลังจะหมดไปแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษตามมาอีกมากมาย “พลังงานทางเลือก” หรือ “พลังงานทดแทน” จึงถูกมองหามากขึ้น เพื่อนำมาทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง
พลังงานทดแทน จึงมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะไม่เพียงแค่หาได้ง่ายจากธรรมชาติอย่างไม่จำกัดแล้ว และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะต้นทุนการดำเนินงานไม่สูงมาก หากเทียบกับพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน
นั่นคือ ที่มาของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน)” หรือ EA ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง "สมโภชน์ อาหุนัย" ประธานกรรมการบริหาร และ"อมร ทรัพย์ทวีกุล"รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่เปิดฉากรุกดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อมร กล่าวว่า "ในช่วงแรกๆของการดำเนินธุรกิจ หลายคนจะมีคำถามว่า เราทำอะไร จะทำได้หรือ เพราะธุรกิจที่เราทำ ค่อนข้างใหม่ สำหรับเมืองไทย ไม่มีใครเคยทำ ไม่มีใครเชื่อว่า จะทำได้ดี เพราะเป็นธุรกิจที่ล้ำสมัย ใช้เทคโนโลยีสูง ใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่สุดท้ายเราก็ทำได้ จึงทำให้ทุกวันนี้ ภาพที่คนมอง EA คือ กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน และเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรม"
EA ทุกวันนี้ต่อยอดมาจากธุรกิจเดิม คือ ไบโอดีเซลที่บริษัทดำเนินงานมากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้น ไม่มีใครทำ พอหลังจากนั้น เริ่มมีคู่แข่งเข้ามา เราก็ต้องขยับหนี เพราะหากมีการแข่งขัน นั่นหมายถึง กำไรจะลดลง แต่เราโชคดีที่เข้ามาในธุรกิจก่อน จึงสร้างกำไรที่ดีไปก่อนที่คู่แข่งจะเข้ามาแล้ว
โฟกัสธุรกิจที่เป็นอนาคต
เกาะกระแสสังคมโลกต้องการ
การลงทุนนั้น บริษัทจะเลือกลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็นกระแส ที่มีแนวโน้มดีในอนาคต โดยโฟกัสไปที่ความยั่งยืน เพราะสังคมโลกมาทางพลังงานสะอาด โลกให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ หากเราลงทุนในธุรกิจที่เป็นกระแส มีแนวโน้มดี โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะค่อนข้างสูงมาก
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการกำหนดแผนว่าจะลงทุนในโครงการที่ที่ไม่ใช่แค่ระดับประเทศไทย แต่จะเป็นระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจะเริ่มในประเทศก่อน แล้วขยายไปยังภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งตอนนี้ EA เริ่มเป็นที่รู้จักในไต้หวัน และญี่ปุ่นแล้ว
ปัจจุบัน บริษัทมีพันธมิตรจากไต้หวัน ที่ร่วมมือกันดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลไต้หวันลงนาม MOU จะสนับสนุนเทคโนโลยี ด้านพลังงาน เพราะไต้หวันมีจุดแข็งเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเรามีจุดอ่อนในเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการทำงานวิจัยร่วมกันด้วย
ปัจจุบัน EA ดำเนิน 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจไบโอดีเซล และธุรกิจโรงไฟฟ้า ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยธุรกิจโรงไฟฟ้าขณะนี้มีกำลังผลิตรวม 404 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม (โครงการหาดกังหัน) 126 เมกะวัตต์
เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการหนุมาน จ.ชัยภูมิ มีกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดทำการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 ก็จะทำให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าของ EA มีกำลังผลิตรวมเพิ่มเป็น 664 เมกะวัตต์
"รถยนต์ไฟฟ้า-รง.ผลิตแบตเตอรี่"
สู่พลังงานสะอาดเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์การเป็นผู้นำด้านพลังงานทางเลือกและสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด ทาง EA เตรียมลงทุนประมาณ 24,700 ล้านบาทในปี 2561-2562 เพื่อใช้ขยายการลงทุนในธุรกิจเดิม และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็น สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Charging Station , การผลิตรถยนตไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ MINE Mobility และธุรกิจผลิตแบตเตอรี่
สำหรับ Charging Station ทาง EA ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะติดตั้งหัวชาร์จรวม 1,000 สถานีทั่วประเทศไทย ภายในปี 2561 โดยปัจจุบันได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 300-400 สถานีในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญบางจังหวัด แต่ละสถานีมี 6-8 หัว เท่ากับว่า มีรวมๆราวๆ 2,000 หัว
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า MINE Mobility ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี ในการพัฒนาด้วยมูลค่าการวิจัย 11 ล้านบาท ก็ได้เปิดตัวรถต้นแบบไปแล้ว 3 รุ่น ได้แก่ City EV รถขนาดเล็กกระทัดรัด สำหรับคนรุ่นใหม่ , MPV EV ที่ภายในกว้างทั้ง 5 ที่นั่ง สำหรับครอบครัว และ Sport EV สปอร์ตคาร์พลังงานไฟฟ้าที่มีทั้งความโฉบเฉี่ยว โดดเด่นและรักษ์โลกด้วย
สำหรับความพิเศษของ MINE Mobility นั้น ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์รถยนต์ คอนเซปต์การพัฒนา มาจากทีมงานวิจัยและพัฒนาจากฝีมือคนไทยทั้งหมด รวมไปถึงอุปกรณ์ในรถก็ใช้ผู้ผลิต OEM ของไทย ตอกย้ำให้เห็นว่า MINE Mobility เป็นรถไฟฟ้าสัญชาติไทยอย่างแท้จริง
ขณะที่ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ จะเริ่มต้นจากโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟส 1 ขนาดกำลังการผลิต 1 กิ๊กกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้มีการเตรียมการลงทุนไว้เรียบร้อยแล้ว และอีก 5 ปีข้างหน้าธุรกิจนี้จะเป็น 1 ใน 2 ธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตให้กับ EA ส่วนอีกธุรกิจ ก็คือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ขยายฐานสู่คนรุ่นใหม่
เร่งสร้าง Brand Awareness
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ภาพ EA จะเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มนักลงทุน สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เพราะเราทำงานร่วมกันกับกลุ่มดังกล่าว แต่ปัจจุบันเราต้องการขยายฐานคนรู้จัก ให้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะธุรกิจเราค่อนข้างจะล้ำสมัย มี Innovation เราจึงต้องการสื่อสารให้คนรุ่นใหม่รับรู้ เพื่อให้เกิด Brand Awareness ในวงกว้างขึ้น รวมถึงต้องการดึงคนรุ่นใหม่ที่มีษักยภาพ มาทำงานร่วมกับเราด้วย
อมร กล่าวว่า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ทำ Facebook เพื่อใส่ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท เพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักว่าเราทำอะไร ปรากฎว่า ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี มีคนสนใจเข้ามาติดตามจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะบริษัทมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
ชู E@SE พัฒนาที่ยั่งยืน
ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน
ด้านการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นอีกพันธกิจหลักที่ EA ให้ความสำคัญ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนและสังคม เพื่อแก้ปัญหายากจน เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสังคม ภายใต้แนวนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่า จะสามารถสร้างการเติบโตพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างมั่นคง
โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ E@SE (E@ Social Enterprise) หรือ E@ กิจการเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นการทำโครงการที่สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนรอบๆ โครงการโรงไฟฟ้าของทาง EA
ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Organic Farming Education แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทฤษฎีใหม่ ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ , โครงการ Farm Factory นำร่องจำลองวิสาหกิจชุมชน ปลูกผักออร์แกนิค 7 ไร่ ต.มะต้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นต้น
"ตัวอย่าง เช่น จัดหาวิทยากรที่มีความรู้ไปสอนชาวนาที่พิษณุโลก ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวไร้ซ์เบอรี่ ที่มีราคาตันละ หมื่นกว่าบาท ขณะที่ราคาข้าวปกติราคาตันละ 8,000 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียงมีรายได้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เราไม่มีนโยบายใส่เงินไปให้ชุมชนอย่างเดียว แต่ต้องการให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด เพราะนั่นหมายถึง การมีรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน"
ขณะที่พนักงานนั้น บริษัทจะดูแลสวัสดิการพนักงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรให้พนักงานอยู่กับเรานานๆ จึงได้มีการฝึกอบรม ให้พนักงานมีศักยภาพต่างจากบริษัทอื่น รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบจัดตั้งกองทุนเพื่อพนักงาน โดยในช่วงแรกบริษัทจะสนับสนุนเงินเริ่มต้น แล้วนำเงินไปลงทุน เมื่อได้ผลตอบแทนกลับมาก็จ่ายเป็นปันผลให้กับสมาชิก เพราะบริษัทคิดว่า เมื่อพนักงานเลือกที่จะอยู่กับบริษัท ก็ไม่ควรได้ผลตอบแทนในรูปของเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างความมั่งคงอย่างยั่งยืน