ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับผลงานวิจัยและมอบรางวัลมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด ASEAN’s Top Corporate Brands 2018 ให้แก่สุดยอดแบรนด์องค์กรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นครั้งแรก เพื่อกระตุ้นให้องค์กรตระหนักถึงคุณค่าแบรนด์องค์กรเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล “Thailand’s Top Corporate Brand Values 2018” ในฐานะบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงถึง 162,947 ล้านบาท
เอนก พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “แนวคิดสำคัญที่อินทัชยึดถือปฏิบัติมาตลอดคือการบริหารงานโดยมืออาชีพตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ปฏิบัติตามกฏหมาย กฏระเบียบข้อบังคับต่างๆ การฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสนับสนุนการลงทุนในด้านโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งนักลงทุน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า พนักงาน ตลอดจนสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนวัตกรรมของบริษัทในเครืออินทัชคือสื่อกลางที่เชื่อมต่อประชาชน องค์กรธุรกิจ และสังคมเข้าไว้ด้วยกัน พนักงานของอินทัชและบริษัทในเครือทุกคนจึงมีบทบาทหน้าที่ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
“รางวัล “Thailand’s Top Corporate Brand Values 2018” ในฐานะบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร น่าจะการันตีได้ว่า แบรนด์อินทัช ก้าวขึ้นมาสู่เป้าหมายแบรนด์ยั่งยืนแล้ว”
ชู“พนักงาน”สื่อสารแบรนด์องค์กรสู่ภายนอก
“ภาพที่คนภายนอกมองเราคือเป็นบริษัทแม่ที่ลงทุนใน AIS 40% ลงทุนในไทยคม 40% ทำให้แยกจากกันได้ยากโดย AIS และไทยคม คือผู้เล่นในสนาม ส่วนอินทัช รับหน้าที่เป็นทีมสนับสนุน โดยแต่งตั้งกรรมการ 2-3 ท่าน เข้าไปร่วมบริหารงานในบริษัทลูก ทั้งนี้ AIS ได้รับรางวัลแบรนด์องค์กรสูงสุดจากจุฬาฯ มาแล้ว 5 ปีติดต่อกันโดยมีสินค้าและบริการเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคและยังสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ขณะที่อินทัช ไม่ได้มีสินค้าที่จับต้องได้ ดังนั้น พนักงานของบริษัทจึงมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเรื่องแบรนด์องค์กรออกไปสู่ภายนอก” เอนก กล่าว
เรียนรู้การบริหารงานจากผู้ถือหุ้น
รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกว่า ผู้ถือหุ้นอินทัช คือ กลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น กลุ่มสิงเทล ซึ่งเป็นสถาบันจึงมีวิธีคิดที่ต่างจากผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคล แต่ทั้ง 2 แบบมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ผู้ถือหุ้นบุคคลจะคิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว ส่วนสถาบันจะให้ความสำคัญกับการตัดสินใจที่มีข้อมูลสนับสนุน การทำงานต้องโปร่งใส ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ คณะกรรมการจะมองทิศทางการลงทุนและมอบนโยบายการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ โดยจะมีงานวิจัยรองรับภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ขณะที่ในแง่ขององค์กรก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ทดลองใช้มาแล้วในหลายประเทศ จากการลงทุนที่มีความแตกต่างในหลายด้าน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งในไทยก็จะนำมาใช้โดยประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะได้เปรียบ เพราะไม่ต้องลองผิดลองถูกใหม่
สำหรับทิศทางการลงทุนนั้น เราถือปฎิบัติให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) ที่นักลงทุนต้องการ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศจะให้ความสำคัญเรื่อง SD มาก โดยจะมองเรื่องปรัชญาในการบริหาร การตั้งบอร์ดมีอิสระจริงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว อินทัชดำเนินงานด้วยความโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่อง
แผนธุรกิจเกิดจากทุกฝ่ายร่วมกัน
การทำแผนธุรกิจไม่ได้ทำจากบนสู่ล่าง แต่เกิดจากทุกฝ่ายร่วมกันทำ Workshop แล้วนำบทสรุปมาเป็นข้อเสนอ โดยจะมีการเสนอแผนและทบทวนแผนปีละ 2 ครั้ง และติดตามผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มทุกเดือน หาก AIS หรือไทยคมเจอปัญหาอะไรจะมาหาทางออกร่วมกัน หรือการแชร์เทคโนโลยีในกลุ่มอินทัช ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร
เอนก กล่าวอีกว่า มูลค่าแบรนด์องค์กร (Corporate Brand Value) นั้น มาจากการไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลประกอบการของบริษัทที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญภายใต้การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่พนักงานทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันสื่อสารข้อมูลออกไป
โมเดลบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
“เราสนับสนุนให้พนักงานทำกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งดำเนินการมา 5 ปีแล้ว โดยให้พนักงานคิดโครงการช่วยเหลือชุมชน เช่น วัด โรงเรียน เป็นต้น และให้พนักงานสามารถลางานไปทำโครงการได้ โดยบริษัทจะสนับสนุนงบประมาณดำเนินการทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในชุมชนที่ขาดแคลนน้ำ เราก็ไปแก้ปัญหาให้ชุมชนมีน้ำใช้ แต่ชุมชนต้องดูแลกันเอง และช่วยกันบริหารจัดการเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดไป นั่นคือ ความยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้เริ่มทำที่จังหวัดน่าน เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ให้มีคุณภาพ และนำโมเดลนี้มาช่วยแก้ปัญหาที่ราชบุรี และลำพูน” เอนก กล่าว
“อินทัช” ขอเป็นพี่เลี้ยง
อย่างไรก็ตาม หากอินทัชจะยั่งยืนต้องสร้างสิ่งใหม่ ไม่พึ่งแค่ AIS และไทยคม จึงได้ลงทุนในธุรกิจ Startup ปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ด้วย และถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆที่ลงทุนใน Startup
อินทัช เปิดตัวโครงการร่วมลงทุนอินเว้นท์ ครั้งแรกในปี 2555 เพื่อส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) ที่มีศักยภาพในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยีและธุรกิจดิจิตอลอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มอินทัช ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการธุรกิจไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการขยายการลงทุนที่จะทำให้กลุ่มอินทัชมีการเติบโตมากยิ่งขึ้น
“การลงทุนนั้น อินทัชเข้าถือหุ้นใน Startup เฉลี่ย 10-20% เราให้ Startup ดำเนินธุรกิจอย่างอิสระ โดยเราจะเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล ช่วยเหลือสนับสนุน Startup ในจุดที่เรามีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นระบบหลังบ้าน เช่น เรื่องกฎหมาย บัญชี รวมถึงช่วยเหลือ Startup ในการขยายตลาดด้วยการพาไปหาลูกค้าใหม่ การช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตลาดได้รู้จัก Startup มากขึ้น เป็นต้น
สำหรับเกณฑ์พิจารณาบริษัทที่ต้องการลงทุนนั้น เราจะพิจารณาถึงผลิตภัณฑ์บริการ การมีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ มีนวัตกรรมและเป็นผู้นำตลาด ด้านตลาดนั้นต้องมีความต้องการใหญ่พอ บริษัทมีความสามารถในการขยายธุรกิจทั้งลูกค้าและรายได้ สร้าง Value ต่อยอดธุรกิจกลุ่มอินทัชได้ ด้านทีมงานนั้นผู้ประกอบการต้องมีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมีผลประกอบการที่ขาดทุนอยู่”
“ในบาง Startup นั้น CVC เจ้าอื่นไม่ว่าจะเป็น เคแบงก์ หรือออมสิน ได้ร่วมลงทุนกับอินทัช เนื่องจากเราต่างก็เห็นว่า Startup เหล่านั้นมีผลิตภัณฑ์บริการที่น่าสนใจ ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต โดยต่างก็เชื่อมั่นในแนวคิดและหลักเกณฑ์ที่บริษัทใช้ในการเลือกลงทุนและเชื่อมั่นในแบรนด์ของอินทัช”
ผู้บริหารอินทัช คาดหวังว่าการส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งเงินทุน และความช่วยเหลืออื่นๆจะเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่รากฐานของระบบนิเวศผู้ประกอบการใหม่ เพื่อให้รากฐานที่แข็งแรงนั้นกลับมาผลิตผู้ประกอบการที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดต่อไปและให้ Startup ไทยสามารถสู้กับต่างชาติได้ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ในระยะยาว ด้วยธุรกิจจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้บริโภคก็ได้เข้าถึง Digital Services ใหม่ๆที่ช่วยพัฒนาให้ชีวิตดีขึ้นได้ อีกทั้งส่งเสริมการสร้างงานให้แก่ Startup เพิ่มมากขึ้นโดยอินเว้นท์ได้สร้างให้เกิดการจ้างงานในบริษัทที่ลงทุนแล้วกว่า 1,000 คน
ที่ผ่านมาอินเว้นท์ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้ว รวมถึงการให้คำแนะนำและช่วยให้เข้าถึงตลาดใหม่ อินเว้นท์มีการเข้าร่วมลงทุนไปแล้ว 16 บริษัท ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 485 ล้านบาท ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าไปลงทุนอยู่ 12 บริษัท เช่น บริษัท อุ๊คบี จำกัด บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด บริษัท อีเว้นท์ ป็อป โฮลดิ้งส์ พีทีอี ลิมิเต็ด บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น ซึ่ง 2-3 บริษัทที่มีแนวโน้มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้
เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
อย่างไรก็ดี โครงการอินเว้นท์ให้การสนับสนุนธุรกิจไม่เฉพาะในด้านเงินลงทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยหาโอกาสทางธุรกิจและยังสามารถขยายความร่วมมือไปยังธุรกิจอื่นๆในกลุ่มอินทัชด้วย รวมทั้งการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับบริษัทซึ่งเป็นพันธมิตรของอินทัช ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการและเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว
ส่วนการเป็นพลเมืองที่ดีต่อสังคมนั้น เอนก กล่าวว่า อินทัชยึดมั่นในพันธกิจการเป็นพลเมืองที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทของบริษัทในฐานะเป็นผู้บริหารสินทรัพย์ที่ลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการลงทุนทางสังคมและชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากของการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมกัน
โดยมีเป้าหมายของการดำเนินโครงการเพื่อสังคม คือ “คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ให้ความสำคัญกับความต้องการของชุมชน สนับสนุนและส่งเสริมความจำเป็นพื้นฐานให้สามารถเรียนรู้ แก้ไขปัญหา นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป
แนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม
1.พัฒนาจากสภาพปัญหาที่มาจากความต้องการที่แท้จริงของสังคมในด้านความจำเป็นพื้นฐานทั้งด้านสุขภาพ สภาพแวดล้อม การศึกษา การมีงานและรายได้
2. วิเคราะห์ปัญหาและวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับประเด็นความต้องการของสังคม รวมทั้งพิจารณานำศักยภาพของบริษัทมาใช้ให้เกิดประโยชน์
3. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโครงการ แผนงานและกิจกรรม รวมถึงสอดคล้องกับภูมิสังคม
4. กำหนดเป้าหมาย วิธีการและผลสัมฤทธ์ที่ต้องการของการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน
5. ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องระยะยาว เพื่อสร้างองค์ความรู้และวิถีปฏิบัติให้กับชุมชนและสังคมสามารถพึ่งตนเองได้