xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดสุขใจ “We Go Green” ทั้งตลาด!! งดใช้ถุงหิ้วพลาสติก ภาชนะโฟม หลอด-แก้ว-ขวดพลาสติก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อรุษ นวราช ผู้นำการเปลี่ยนแปลง “We Go Green”
เชือกกล้วยผูกปมทำเป็นหูหิ้วผลไม้  ถือไปมาสะดวก
พ่อค้าแม่ค้า ตลาดสุขใจ สวนสามพราน คึกคักรวมพลังรักษ์โลก พลิกภูมิปัญญาไทย ทำหีบห่อจากวัสดุธรรมชาติ พร้อมประกาศ “We Go Green” โดยงดใช้ถุงหิ้วพลาสติก ภาชนะโฟม หลอด-แก้ว-ขวดพลาสติก ในตลาดอย่างเป็นทางการ หลังดีเดย์นับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.เป็นต้นมา
ตลาดสุขใจ ตลาดเกษตรอินทรีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รณรงค์ลดโลกร้อน ภายใต้แนวคิด รวมพลังรักษ์โลก “We Go Green” ประกาศงดใช้ถุงหิ้วพลาสติก ภาชนะโฟม หลอด-แก้ว-ขวดพลาสติก ในตลาดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป ชวนลูกค้านำถุงผ้า หิ้วตะกร้า มาช้อป ด้านพ่อค้าแม่ค้าขานรับไอเดียรักษ์โลกคึกคัก พลิกวิถีภูมิปัญญาไทย ใช้วัสดุธรรมชาติที่ปลูกในแปลงอินทรีย์ มาทำบรรจุภัณฑ์ เช่น กระทงใบตอง ตาข่ายจากเชือกกล้วย กระเป๋ากาบกล้วย ตะกร้าใบมะพร้าว แพคห่อผักจากใบบัวหลวง หลอดดูดใบตอง หลอดดูดจากปล้องต้นอ้อ อีกทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมนำกระบอกน้ำ และปิ่นโตมาใช้แทนแก้ว-ขวด-จานพลาสติก
พ่อค้าแม่ค้าในตลาดเป็นกรรมการ และคณะกรรมการผู้บริโภค ได้ร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโลกร้อน
อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้นำการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล และริเริ่มตลาดสุขใจ เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กล่าวว่า เป็นนโยบายของมูลนิธิสังคมสุขใจ และคณะกรรมการตลาด ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเป็นกรรมการ และคณะกรรมการผู้บริโภค ที่ได้ร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโลกร้อน โดยมีเป้าหมายให้ตลาดสุขใจ เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ ต้นแบบของตลาดที่สร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อลดโลกร้อนอย่างแท้จริง
“เรื่องนี้เราได้เริ่มทดลองรณรงค์กันเองมาก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งคนซื้อและคนขายในการลดปริมาณขยะถุงหิ้วพลาสติก ขยะภาชนะโฟม ขยะหลอดพลาสติก ขยะแก้วพลาสติก และขวดพลาสติกที่ใช้ และถูกทิ้งเป็นจำนวนมากในตลาด ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์หากว่าร่วมมืออย่างจริงจังก็ทำได้เพียงเราเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมความคุ้นชินแบบเดิมๆ”
“ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะสร้างภาระเพิ่มขึ้นให้กับพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าด้านความสะดวกสบายจากการบรรจุสินค้าให้กับลูกค้าในถุงพลาสติก หรือกับลูกค้าที่ไม่ต้องเตรียมภาชนะตะกร้า ถุงผ้ามาด้วย แต่ต่อมาทุกฝ่ายก็ยินดี เพราะเข้าใจและตระหนักถึงการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมของเราทุกคน”
ถุงหูหิ้วไม่มี เสียเวลาสักหน่อย ลูกค้าก็เข้าใจและยินดีรอ  ทำให้มีเวลาได้พูดคุย ไต่ถามถึงวิธีการกิน วิถีการทำอินทรีย์ ประโยชน์สรรพคุณของพืชผัก
ตลาดเตรียมตะกร้าไว้ให้ยืมใส่สินค้าแทนถุงหูหิ้ว
ยิ้มแย้มมีความสุขที่มาจ่ายตลาดแบบช่วยลดโลกร้อน
อรุษ ย้ำถึงแนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีผู้นำ คนร่วมขับเคลื่อน และมีคนนำไปปฏิบัติจริงๆ “หัวใจของความสำเร็จของการร่วมลดโลกร้อนของตลาดสุขใจ อยู่ที่ความเข้าใจและตระหนักจนนำไปปฏิบัติจริง และจะกลายเป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่เพียงการทำตามกระแส เพราะการปฏิบัติจริงๆ ทุกวันของคนๆ หนึ่งจะช่วยทำให้อีกหลายๆ คนเปลี่ยนแปลงได้”
“ทุกสัปดาห์ ตลาดสุขใจ ซึ่งเปิดบริการทุกเสาร์ -อาทิตย์ ได้ต้อนรับลูกค้า ใหม่ๆ อยู่เสมอ เชื่อว่าแต่ละคนที่ได้มาเห็นคนทั้งตลาด และผู้บริโภคที่ได้ร่วมมือกันลดโลกร้อนและไม่ใช่เพียงแค่ลด แต่เป็นการงดใช้ถุงหิ้วพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง หลอดพลาสติก ขวดพลาสติก แก้วพลาสติก และกล่องโฟม อย่างจริงจัง ก็จะทำให้ผู้คนมีจิตสำนึก เริ่มคิด และเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมตาม ซึ่งในความเป็นจริงนั้นสินค้าบางอย่างคงจำเป็นต้องใช้พลาสติกบ้าง แต่เราก็พยายามที่จะลดใช้พลาสติกให้ได้มากที่สุด”
ความน่าประทับใจในการร่วม Go Green ของตลาดสุขใจในครั้งนี้ คือเกิดไอเดียใหม่ๆ ในการใช้วัสดุธรรมชาติและภูมิปัญญาไทย ซึ่งมีอยู่แล้วในแปลงพืชผักอินทรีย์ของเกษตรกร นอกจากนี้ยังเกิดการถ่ายทอดเทคนิคการใช้วัสดุธรรมชาติที่เคยมีในอดีต มาทำหีบห่อใช้บรรจุพืชผัก รวมถึงการออกแบบที่ให้ความสะดวกและความเท่ ด้วยหูหิ้วจากวัสดุธรรมชาติใหม่ๆ ที่ให้ความสะดวกโดยไม่ต้องใช้ถุงหิ้วพลาสติก หรือถุงพลาสติก รวมถึงการสรรหาบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ มาใช้แทนการใช้กล่องโฟมใส่อาหารให้ลูกค้า
ทั้งนี้ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสุขใจ บอกว่า ตอนแรกเลยก็กังวลว่าจะทำให้ยุ่งยากเสียเวลามากขึ้น แต่พอเริ่มทำกลับเป็นความสุข ที่ได้มีส่วนร่วมลดโลกร้อน จากเดิมขั้นตอนการขายนั้นง่ายและสั้นมาก จับสินค้าใส่ถุงพลาสติกก็จบเ แต่พอเปลี่ยนมาใช้ใบตองบ้าง ใบบัวบ้าง ก็ใช้เวลานานขึ้นในการห่อพืชผัก ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจ และยินดีรอ ทำให้มีเวลาได้พูดคุย ไต่ถามถึงวิธีการกิน วิถีการทำอินทรีย์ ประโยชน์สรรพคุณของพืชผัก หรือแม้กระทั่งเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมต่อกัน
แพกเกจสุดเก๋ไก๋จากกาบกล้วย
วัลลภ จารุรัตน์ พ่อค้าและเกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์ท่าตำหนัก เล่าว่า เดิมหลังร้านจะมีถุงหิ้วพลาสติกที่ต้องเสียเงินซื้อมาหลายแพก ตอนนี้ก็เปลี่ยนไป ที่หลังร้านจะเต็มไปด้วยใบบัวหลวง ใบตอง เชือกกล้วยที่นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งปกติก็เป็นพืชที่ขึ้นในแปลงพืชผักอินทรีย์อยู่แล้ว แต่ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายถุงหิ้วพลาสติกได้หลายบาท
ไอเดียใหม่ๆ ในการนำวัสดุธรรมชาติ วัสดุที่ไม่ใช่พลาสติก มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ พืชผัก และอาหารให้ลูกค้า ที่ได้รับความสนใจจากลุกค้ามาก เช่นมีการนำใบบัวหลวง ใบตองอินทรีย์ มาห่อพืชผัก แถบเติมความกิ๊บเก๋ เอาเชือกกล้วยมามัด ผูกปมเป็นหูหิ้ว ถุงตาข่ายจากเชือกกระสอบและเชือกกล้วยใส่ผลไม้เช่นมะเฟือง มะละกอ หัวปลี รวมถึงการใช้หลอดดูดจากวัสดุธรรมชาติเช่นจากปล้องต้นอ้อ ปล้องต้นข้าว ตะไคร้ และใบตองม้วนมัดด้วยเชือกกล้วย
บัณฑิต เกิดมณี เกษตรกรอินทรีย์ และเป็นพ่อค้าจำหน่ายมะพร้าวอินทรีย์ ก็บอกว่าปกติผมใช้หลอดพลาสติกเสิร์ฟให้ลูกค้า แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้หลอดจากใบกล้วย สำหรับวิธีการทำหลอดดูดจากใบกล้วยอินทรีย์ เริ่มจากตัดใบตองมาล้างทำความสะอาดให้แห้ง จากนั้นนำมาม้วน และผูกด้วยเชือกกล้วย ที่ผ่านการต้มทำความสะอาดแล้วประมาณ 15 นาที เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูกค้า
ไอเดียน่ารักๆ ที่เราช่วยกันลดปริมาณถุงหิ้วพลาสติก ยังรวมถึงการให้บริการถุงผ้ายืมใช้ หากลูกค้าที่ไม่ได้เอาถุงผ้าติดมาด้วย สามารถยืมใช้กลับบ้านได้ รวมถึงการผูกปิ่นโต ที่ลูกค้าสามารถนำปิ่นโตใส่ก๋วยเตี๋ยวกลับบ้านแล้วค่อยนำมาคืนในสัปดาห์ถัดไป การสรรหาเข่งเล็กๆ มาใส่พืชผัก เช่นพริก มะเขือ โชว์ โดยลูกค้าสามารถนำกล่องมาใส่เองในหลายร้านค้าตอบแทนความร่วมมือของผู้บริโภคด้วยการให้ส่วนลดให้ของแถม
ส่วนผู้บริโภค ขาประจำตลาดสุขใจ เมื่อรู้ถึงนโยบายของตลาดที่จะ Go Green ต่างก็ให้ความร่วมมือ มีการพกถุงผ้า หิ้วตะกร้า พกปิ่นโต ทับเพอร์แวร์ มาจากบ้านมาใส่อาหาร แทนการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการพกแก้วน้ำดื่มมาเอง ซึ่งทางตลาดสุขใจได้มีการติดตั้งเครื่องกดน้ำดื่ม อำนวยความสะดวกให้ด้วย หลายรายเตรียมพร้อมมากๆ พกทั้งหลอดโลหะ ตะเกียบ และช้อน มาเองเลยก็มี
ตลาดสุขใจ ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล เปิดมาแล้ว 8 ปี พืชผักที่จำหน่ายในตลาดเป็นพืชผักที่ปลูกในระบบเกษตรกรอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายสามพรานโมเดล 15 กลุ่มมีสมาชิกจำนวน 177 ครัวเรือนกระจายอยู่ในพื้นที่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง ในส่วนของอาหารแปรรูป อาหารปรุงสุก เน้นให้มีการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ให้มากที่สุด โดยแต่ละร้านจะมีป้ายเขียนบอกความเป็นอินทรีย์อย่างชัดเจน
ตะกร้าทำจากใบมะพร้าว


กำลังโหลดความคิดเห็น