ผลงานของ ‘อัฐวุฒิ ผลาสินธุ์’ นิสิตปริญญาโทหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยจากฝีมือนักวิจัยไทยที่ผ่านการศึกษาวิจัยและทดสอบแล้วว่าได้มาตรฐาน ราคาถูกกว่าเสื้อเกราะที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้มีการส่งมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้
“การสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศชาติ เป็นหนึ่งในพันธกิจของคณาจารย์ นักวิจัยและนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริงสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ”
รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงที่มาของการพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุน “จามจุรี” ว่า ภาควิชาฯ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องเกราะกันกระสุนในรูปแบบต่างๆมาหลายปีแล้ว ทั้งเกราะกันกระสุนสำหรับยานพาหนะ เกราะสำหรับโครงสร้างอาคาร สามารถกันกระสุนได้ในระดับความรุนแรงต่างๆ สำหรับเกราะกันกระสุน “จามจุรี” มีลักษณะเป็นเสื้อเกราะสำหรับให้คนสวมใส่ ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเหตุการณ์การประท้วงต่างๆซึ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งการลอบยิง การวางระเบิด ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ เป้าหมายของการวิจัยจึงมุ่งพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนที่ใช้วัสดุในประเทศที่หาได้ง่าย มีราคาถูก เนื่องจากเสื้อเกราะกันกระสุนที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก
“เสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำจากแผ่นเหล็กหนาๆ ก็สามารถกันกระสุนได้ แต่น้ำหนักจะมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ใส่เสื้อเกราะไม่สะดวกเวลาวิ่งหรือเดิน เสื้อเกราะกันกระสุนที่ดีมีประสิทธิภาพต้องบาง เบา และราคาถูก ส่วนใหญ่เสื้อเกราะกันกระสุนที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง ตัวละ 20,000 บาทขึ้นไป ทำจากวัสดุเคฟลาร์และอายุการใช้งานจำกัด เพียง 5 ปี ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือ 60% ที่ผ่านมามีหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่ทำเสื้อเกราะกันกระสุนแต่ราคายังคงสูงอยู่ เกราะกันกระสุนที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นนั้นมีราคาถูก เพียง 5000 - 6000 บาทเท่านั้น ที่สำคัญคือมีคุณภาพ สามารถป้องกันกระสุนได้ตามมาตรฐาน โดยผ่านมาตรฐานการทดสอบ NIJ ของสหรัฐอเมริกา ในระดับ 2A สำหรับปืนพกขนาดเล็กทั่วไป ซึ่งเหมาะกับการใช้งานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” รศ.ดร.เสกศักดิ์ กล่าว
สำหรับวัสดุที่ใช้ในการทำเสื้อเกราะกันกระสุนนั้น รศ.ดร.เสกศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า เป็นวัสดุที่มาจากภายในประเทศทั้งหมด ทำให้มีราคาถูก ประกอบด้วยวัสดุผสม 3 ชนิด ได้แก่ แผ่นเหล็กกล้าไร้สนิม แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ และแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งได้ขอรับบริจาคแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาล ในการผลิตเสื้อเกราะจะเน้นให้ใช้วัสดุน้อยที่สุด ทำให้ได้เกราะที่บางที่สุด น้ำหนักน้อยที่สุด ต้นทุนก็จะต่ำที่สุด แต่ต้องสามารถกันกระสุนได้ตามมาตรฐาน โดยมีการทดสอบโดยใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ผ่านการทดสอบวิจัยเชิงลึกด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีความถูกต้องในการทดสอบด้วยโมเดลถึง 95% เป็นจุดเด่นของงานวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนจามจุรี
“เราไม่อยากจะทำงานวิจัยที่ขึ้นหิ้ง งานวิจัยนี้นอกจากจะมีการตีพิมพ์ในงานวิชาการระดับนานาชาติแล้ว เราอยากจะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง” รศ.ดร.เสกศักดิ์ เผยถึงเหตุผลที่นำเสื้อเกราะกันกระสุน จามจุรีไปมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อส่งต่อให้ สน.ปทุมวัน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปใช้ปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง เป็นการลดความเสี่ยง เพิ่มความอุ่นใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ปัจจุบันเสื้อเกราะกันกระสุนที่ได้พัฒนาขึ้นมานั้นได้มีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลา 6 เดือน - 1 ปี เมื่อนึกถึงเกราะกันกระสุน คน ส่วนใหญ่จะคิดว่ามีลักษณะเป็นแผ่น แต่จริงๆแล้วเกราะกันกระสุนมีการใช้งานในหลายระดับ นอกจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับด้านความมั่นคงเช่นเสื้อเกราะกันกระสุน หรือเกราะป้องกันกระสุนในรูปแบบอื่นๆที่มีความหลากหลายแล้ว ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีงานวิจัยอื่นๆที่น่าสนใจที่นำมาประยุกต์ในเชิงอุตสาหกรรม เช่น โฟมโลหะ ซึ่งเป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรง การผลิตชิ้นส่วนที่ทำจากผงโลหะ เป็นต้น
สำหรับผู้วิจัยคิดค้น “เสื้อเกราะจามจุรี” อัฐวุฒิ ผลาสินธุ์ นิสิตปริญญาโทหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เสื้อเกราะกันกระสุนที่มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน 10 ชุด ใช้งบประมาณในการจัดทำเฉพาะค่าวัสดุไม่เกินตัวละ 3,000 บาท ขั้นตอนการจัดทำ เริ่มจากการนำแผ่นเหล็กมาทำการดัดโค้งให้สอดรับกับตัวเสื้อและสรีระร่างกาย จากนั้นจึงนำแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์และฟิล์มเอกซเรย์มาประกบกัน โดยใช้กาวชนิดพิเศษ ให้วัสดุติดประสานกัน การจัดทำตามขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ใช้เวลา 2 วันต่อเสื้อเกราะหนึ่งตัว ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ วิธีการทำให้วัสดุต่างๆ ยึดติดกันดี แผนงานในอนาคตจะทำการต่อยอดหาวัสดุอื่นเพื่อพัฒนาเสื้อเกราะให้สามารถกันกระสุนได้ในระดับความรุนแรงที่สูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถให้ทหารได้ใช้งานได้ด้วย
“ดีใจมากครับที่งานวิจัยที่เราทำและได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าได้มาตรฐาน มีการนำไปใช้ปฏิบัติงานจริงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นความภาคภูมิใจมากครับ” อัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จในการทำงานวิจัยครั้งนี้