xs
xsm
sm
md
lg

หยุดทรมานแม่หมู!? “เบทาโกร-ซีพีเอฟ”ให้คำมั่นเปลี่ยนวิธีเลี้ยงจาก“ยืนซอง”เป็น“รวมกลุ่ม” สร้างชีวิตแบบใหม่ภายในปี2570

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ถือเป็นแหล่งที่ “ทรมานสัตว์” มากที่สุด เพราะตลอดวงจรชีวิตของสัตว์นับ 7 หมื่นล้านตัวทั่วโลกที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารล้วนต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ย โดยเฉพาะ “แม่หมู” ในฟาร์มเลี้ยง ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1.4 หมื่นล้านตัวทั่วโลก และถือว่าเป็นฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทุกช่วงชีวิตของพวกมันตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนกระทั่งกลายเป็นอาหารของมนุษย์ต้องก้มหน้าใช้ชีวิตในคอกแคบๆ ที่มืดทึบ อากาศไม่ถ่ายเท ทั้งชีวิตไม่มีสิทธิ์ฝันว่าจะลุกเดินไปไหน เพราะแค่จะเดินกลับตัวยังไม่มีโอกาส

ผลพวงจากการต้องก้มหน้ารับชะตากรรมอย่างไม่มีทางเลือก ไม่เพียงสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราว แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของแม่หมูโดยตรง เพราะหมูเป็น “สัตว์สังคม” แต่เมื่อถูกมนุษย์เปลี่ยนธรรมชาติให้มาเลี้ยงแบบ “ยืนซอง” มีชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ย่อมทำให้แม่หมูเกิดความเครียดสะสม จนต้องระบายสารพิษในใจด้วยการกัดแทะเหล็กซี่กรง เมื่อประกอบกับการเลี้ยงดูที่ไม่เต็มร้อย จำกัดปริมาณอาหารการกินเพื่อรักษาน้ำหนักตัวแม่หมูไม่ให้เกิดปัญหาตอนคลอดลูก อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศไม่ถ่ายเท ขาดการดูแลความสะอาดเมื่อมีการขับถ่ายของเสีย ก็พาลให้ร่างกายอ่อนแอลง ป่วยเป็นโรคง่าย

ที่น่าตกใจคือ ทางออกของฟาร์มส่วนใหญ่ไม่ใช่การพุ่งไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เลือกแก้ที่ปลายทางนั่นคือ การให้ “ยาปฏิชีวนะ” เพื่อเยียวยาแม่หมู จนบางครั้งให้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นจนเกิดการสะสมในร่างกาย เมื่อคลอดลูกออกมา ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โรคภัยไข้เจ็บและยาปฏิชีวนะที่ให้ไปแบบไม่ใส่ใจนี้จะถูกส่งต่อเป็นมรดกไปที่ไหน “ลูกหมู?” หรือ “ผู้บริโภค?”

คำถามคือ แล้วในฐานะผู้บริโภค เราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของแม่หมูที่ไปไกลกว่าคำว่า “ย่ำแย่” พร้อมกับสร้าง “ทางเลือก” ที่ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อหมูคุณภาพดี

กุญแจสำคัญที่จะพาไปสู่คำตอบของคำถามนี้คือ เริ่มต้นจากการเข้าใจ “เกมแห่งชีวิต” ของหมู และช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อ “ยุติวงจร” อันแสนทารุณนี้ ที่ผ่านมาองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ได้ริเริ่มโครงการ ”เลี้ยงหมูด้วยใจ” (Raise Pigs Right) เพื่อหวัง “ยกระดับ” คุณภาพชีวิตของหมูในฟาร์มเลี้ยงให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเจรจากับฟาร์มเลี้ยงหมูต่างๆ ทั่วโลกให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงหมู จากที่เลี้ยงในซองเล็กๆ ให้เปลี่ยนมาเลี้ยงแบบ “รวมกลุ่ม” รวมถึงการเพิ่มอุปกรณ์ “ลดความเครียด” ให้กับหมูไว้กัดเล่น อาทิ เชือกปอมะนิลา กระสอบที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และกิ่งไม้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคร่วม “แสดงพลัง” ลงชื่อเรียกร้องให้มากที่สุด เพื่อส่งเสียงถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดหาเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มเลี้ยงที่ดูแล “สวัสดิภาพ” ของหมู เพราะถ้าถามว่า ใครคือ “ผู้เล่น” คนสำคัญที่สามารถชี้ชะตาชีวิตในเกมแห่งชีวิตของหมู คำตอบไม่ใช่เจ้าของฟาร์ม หรือซูเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ แต่เป็น “ผู้บริโภค” ทุกคนที่มีอำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือว่าจะเลือกบริโภคอย่างรับผิดชอบหรือเพิกเฉยต่อชะตากรรมของหมู สัตว์โลกตาดำๆ ที่แม้จะเกิดมาเพื่อเป็นอาหาร แต่ก็ยังรักและหวงแหนคุณค่าแห่งการมีชีวิตไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

“กิจกรรมดังกล่าวนี้ จะดำเนินการพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งเราหวังว่าการเปิดเผยให้เห็นเบื้องหลังที่มาของเนื้อหมูที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวัน เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการมอบชีวิตที่ดีขึ้นให้กับแม่หมู เพราะเราต้องการการสนับสนุนจากคนไทยทุกคน” นี่คือเสียงสะท้อนจากใจของนางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำประเทศไทย ที่หวังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตแม่หมูนับล้านตัวในประเทศไทย ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “หนึ่งเสียงของทุกคนมีค่า หากเราร่วมใจกัน เสียงของเราก็จะมีพลังและนำไปสู่การยุติความทุกข์ทรมานของแม่หมูในฟาร์มเลี้ยงได้”

จากความพยายามขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ส่งผลให้ “เบทาโกร” หนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของไทยร่วมให้คำมั่นว่าจะ “ยกเลิก” การเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซองขณะตั้งท้องเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 โดยจะเปลี่ยนมาเป็นระบบการเลี้ยงแบบรวมกลุ่มให้ครบทุกฟาร์มในเครือฯ ภายใน พ.ศ.2570 เช่นเดียวกับ “ซีพีเอฟ” ที่มีแผนจะยุติการเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ที่ตั้งครรภ์แบบยืนซอง และหันมาเลี้ยงแบบรวมกลุ่มให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ.2568

อย่ามองข้ามพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวคน ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เลี้ยงหมูด้วยใจ” ด้วยการร่วมลงชื่อกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกที่ www.worldanimalprotection.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น