การอนุรักษ์นั้นเกิดขึ้นได้ในหลายบริบท ไม่ว่าสังคม สัมมาอาชีพใดๆ ก็ตาม ประชาชนธรรมดาล้วนแล้วแต่สามารถใช้ความสามารถของตัวเองให้เกื้อหนุนต่อสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่สิ่งเล็กๆ จากสองมือของเด็กตัวน้อยไปจนถึงผู้ใหญ่ในการร่วมมือกันอนุรักษ์บางสิ่งบางอย่างเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่สุขภาพสิ่งแวดล้อมบ่งบอกถึงสุขภาพกายและจิตของเรา เพราะเราอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เชิญชวนร่วมรับฟังเรื่องราวจากผู้มีประสบการณ์การอนุรักษ์ในด้านต่างๆ เพื่อจุดไฟและสานต่อแนวคิดการอนุรักษ์ขึ้นอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1
วิทยากรที่มาเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเล อุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารด้านธรรมชาติ แห่ง Nature Plearn Club ชาญฉลาด กาญจนวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ GREY RAY เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง นักอนุรักษ์ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery ส่งเสริมวัฒนธรรมสีเขียว และ สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้ง Refill Station
ขอเกริ่นถึงวิทยากรคนรุ่นใหม่ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสักนิด
ชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเล
นอกจากเขาจะเป็นช่างภาพอิสระและสร้างสรรค์ผลงานด้านสารคดีสิ่งแวดล้อมทางทะเลแล้ว ยังเป็นสมาชิกของสมาพันธ์นานาชาติของนักถ่ายภาพเพื่อการอนุรักษ์ (iLCP) เขาให้ความสนใจถ่ายภาพธรรมชาติ สัตว์ป่าใต้น้ำ ควบกับนักนิเวศวิทยาทางทะเลฝึกหัด มีความสนใจพิเศษเรื่องชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ของปลากระดูกอ่อน ถือเป็นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ไฟแรง ผลงานภาพถ่ายของเขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัยากรทางทะเลได้เป็นอย่างดี
อุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารด้านธรรมชาติ แห่ง Nature Plearn Club
นักสื่อสารด้านธรรมชาติจากทีมนักสื่อสารด้านธรรมชาติวิทยา (Nature Play and Learn Team) ที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายด้านธรรมชาติวิทยา ด้วยการพาเยาวชนไปเรียน เล่น รู้ จากกระบวนการเกมธรรมชาติ ที่เน้นคะแนนความสุขมาเป็นที่ตั้ง
Nature Plearn Club รังสรรค์เกมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อย่นระยะห่างระหว่างเยาวชนกับธรรมชาติให้เขยิบเข้ามาใกล้กันมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของสัตว์ป่าในเมืองหรือว่าสัตว์ป่าในผืนป่า สร้างความสนุกสนานทั้งยังสอดแทรกองค์ความรู้ ความเข้าใจ ความรักต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
เรียกว่าเพื่อคอยเติมเต็มวิตามินจี (G มาจากคำว่า Green) ให้กับเยาวชน ผ่านการสัมผัสความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ แต่มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่มีสายใยเล็กๆ ที่เชื่อมร้อยพวกเราเข้าไว้ด้วยกัน
ชาญฉลาด กาญจนวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ GREY RAY
แบรนด์ GREY RAY ออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่เป็นมากกว่าเครื่องเขียนเพราะมิได้อ้างอิงพื้นฐานการออกแบบที่ดีเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการใช้งานของผู้บริโภค ผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ได้ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า
ทำไมเครื่องเขียนจะรักโลกไม่ได้… หนึ่งในปณิธานของแบรนด์เกิดจากการตั้งคำถาม ความรับผิดชอบของสิ่งที่ทำซึ่งจะส่งผลต่อคนกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จึงนำไปสู่การไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทำให้ผลิตภัณฑ์บางชิ้นอาจต้องใช้เวลาศึกษานานถึง 2 ปี เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนของไทยที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค
โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะดีไซน์สวยงามยังคงรักษาคุณภาพและปลอดภัย
สำหรับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ EE PENCIL CAP ที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อปกป้องไส้ดินสอ EE ช่วยให้ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า , ดินสอ 2 cm+ ออกแบบจากพฤติกรรมการใช้ดินสอที่ไม่สามารถใช้หมดแท่งได้ จึงลดไส้ดินสอด้านใน 2 เซนติเมตรลงเพื่อลดการใช้ทรัพยากรบางอย่างลงแต่คงคุณค่าการใช้งาน , NATURE MADE ECO ERASER ยางลบที่ผ่านกระบวนการศึกษามาอย่างดีแล้วว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผลิตมาจากเปลือกหอยเชลล์ ลดคาร์บอนของระบบการผลิตในอุตสาหกรรมยางลบได้ถึงร้อยละ 50 และปลอดภัยจากสารก่อมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสหรือสูดดม และอื่นๆ
เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง นักอนุรักษ์
นางเอกสาว เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ เธอใช้เวลาราวสองปี ลดบทบาทนักแสดงลง และผันเวลามาทำงานเพื่อสังคมและธรรมชาติมากขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจที่จะทำคุณประโยชน์เพื่อแผ่นดินประเทศไทย เนื่องจากช่วงปี 2559 เกิดปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง จึงเริ่มคิดวิเคราะห์และหาข้อมูลร่วมกับกลุ่ม นำไปสู่การรวมตัวกันก่อตั้งเป็นโครงการ Little Forest - ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ ซึ่งดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ภาคเหนือตอนบน (ออป.) ประชาชนในพื้นที่รวมกับปลูกป่าที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่แล้ว ยังเดินหน้าเพื่อปลูกใจผู้คนทั้งคนเมืองและคนในพื้นที่ หวังให้ความรู้ เกิดการตระหนัก และร่วมมือกันดูแลรักษา
เธอร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมากมายเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการปลุกใจ โดยไม่เป็นการยัดเยียดให้คนต้องตระหนักหรือปฏิบัติตาม แต่เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ ดังที่เมื่อปีที่ผ่านมาคุณเชอรี่ได้ปิดโรงภาพยนตร์เพื่อฉายภาพยนตร์รอบพิเศษเรื่อง An Inconvenient Sequel : truth to power ภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าสารที่เขาเหล่านั้นได้รับไปจะนำไปสู่การคิด ตระหนักและนำไปเป็นพลังในการดูแลรักษาโลกให้สวยงามต่อไป
ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery เพจส่งเสริมวัฒนธรรมสีเขียว
อดีตช่างภาพแฟชั่น คนช่างคิด จึงผันตัวมาก่อตั้งครีเอทีฟ มูฟ (Creative MOVE) ออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยทำในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม เน้นประเด็นเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม
ก่อนที่เขาจะทำครีเอทีฟ มูฟ เขาก่อตั้งเครือข่ายออนไลน์ PORTFOLIOS*NET ซึ่งเป็นเครือข่ายนักสร้างสรรค์และนักออกแบบ มีสมาชิกกว่าสองหมื่นเจ็ดพันคน และนั่นก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงนักออกแบบ คนทำงานศิลปะ มาสร้างสรรค์ออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคม
เขายังสร้างสรรค์โครงการของตัวเอง โดยหางบสนับสนุน อย่าง Greenery.org ที่เปิดมาปีกว่าๆ ในเรื่องวิถีกรีนๆ เขาเล่าว่า อยากให้ความรู้คนเมืองในเรื่องเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย การกิน อยู่ ดูแลสุขภาพ โดยสื่อสารด้วยรูปแบบใหม่ เข้าใจง่ายๆ นำเสนอชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติกและลดการสร้างขยะ เชื่อมโยงไปถึงเกษตรอินทรีย์ เปิดตลาด Greenery หมุนเวียนไปตามที่ต่างๆ
สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้ง Refill Station
Refill Station ร้านปั๊มน้ำยาแห่งแรกในประเทศไทย เกิดมาจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีแนวคิดในการทำเพื่ออุดมการณ์เดียวกันนั่นก็คือ การลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวและสามารถลงมือปฏิบัติทำได้เลยในชีวิตประจำวัน เรื่องขยะพลาสติกจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ
ความสะดวกสบายของการใช้พลาสติกอาจสร้างนิสัยและพฤติกรรมมักง่ายโดยไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ นำไปสู่ผลกระทบจากขยะพลาสติกเป็นสถานการณ์ที่พบได้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมที่พบขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำต่างๆ รวมถึงสัตว์ทั้งหลาย อาทิ นก กวางป่า เต่า วาฬ ที่ต้องตายด้วยขยะพลาสติก
ร้าน Refill Station ร้านปั๊มน้ำยา จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่อยากลดขยะพลาสติกด้วยการนำขวดบรรจุภัณฑ์เดิมมาใช้ใหม่ด้วยการพกมาซื้อน้ำยาที่ร้าน ซึ่งนอกจากเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแล้ว ยังใส่ในเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไมธุรกิจแบบใหม่นี้จึงให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติก อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภทที่ช่วยส่งเสริมให้คนทั่วไปได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เลยในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบายจากรัฐบาล แต่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยสองมือนี้จากนี้เป็นต้นไป
หมายเหตุ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมกิจกรรมงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร โปรดพกกระเป๋าหรือถุงผ้ามาสำหรับใส่ของ เนื่องจากภายในงานไม่มีพลาสติกบรรจุของ หรือผลิตภัณฑ์ให้ เพื่อส่งเสริมการลดขยะพลาสติกที่เป็นหนึ่งในบ่อเกิดของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ชมรายละเอียดที่ https://www.seub.or.th/