xs
xsm
sm
md
lg

“ก๊าซเรดอน”ภัยร้ายในบ้านที่ต้องเฝ้าระวัง ศูนย์ริสค์-สถาบันนิวเคลียร์ร่วมเดินหน้างานวิจัยใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมมือกันในการวัดระดับกัมมันตภาพรังสี ก๊าซเรดอนในอาคารและวัสดุก่อสร้างของประเทศไทย
พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้น ณ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC, อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด โดยทั้งสององค์กรจะร่วมกันศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อหาสาเหตุความเสี่ยงต่อสุขภาพจากก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปอดที่อาจเกิดได้แม้ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC ตัวแทนในการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ กล่าวว่าการวิจัยครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนครั้งแรกในประเทศไทยเกี่ยวกับระดับก๊าซเรดอนในวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากก๊าซเรดอนมีลักษณะใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และสามารถกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาคารหรือที่อยู่อาศัย จึงยากที่จะตรวจจับนอกจากนี้ ยังเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันคนทั่วโลก การร่วมมือครั้งนี้จึงมุ่งมั่นที่จะปกป้องบ้านหรือที่พักอาศัยของคนไทยด้วยการตรวจสอบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ตรวจสอบเถ้าลอยในปูนซีเมนต์เพื่อนำไปพัฒนาข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ดร. พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตัวแทนในการลงนามกล่าวว่า สถาบันฯ จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในขณะที่ RISC จะช่วยดำเนินการด้านข้อมูลวัสดุก่อสร้างและสนับสนุนการทดลอง เพื่อให้งานวิจัยสามารถดำเนินไปได้อย่างครอบคลุมเป็น งานวิจัยนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเชื่อว่าเมื่อสำเร็จแล้ว จะสามารถสร้างมาตรฐานวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคของไทย และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย

เรดอนเป็นก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากหินและดินซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตวัสดุก่อสร้าง ปริมาณขึ้นอยู่กับแต่ละสภาพภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งแตกต่างกันไปตามธรณีวิทยา ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ก๊าซเรดอนอาจสามารถเข้าถึงความเข้มข้นสูงได้ในบางบริเวณอย่าง เช่น บริเวณน้ำพุร้อน และมีผลการวิจัยพบว่า เรดอนความเข้มข้นสูง พบมากในที่พักอาศัยบริเวณเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรี ชี้ให้เห็นว่าก๊าซเรดอนสามารถถูกปล่อยออกมาสะสมอยู่ในอาคารสูง 4 ชั้นในกรุงเทพฯ จากวัสดุก่อสร้างอาคารในประเทศไทย ถึงแม้ว่ามวลก๊าซจะหนักกว่าอากาศก็ตาม สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพ ก๊าซเรดอนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งต่อการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดจำนวน 21,000 รายต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกาและกว่า 15% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั่วโลก

ดร. ไมเคิล เรพพาโชลี่ ผู้ประสานงานหน่วยงานด้านรังสีและสิ่งแวดล้อมขององค์การอนามัยโลก อธิบายถึงก๊าซเรดอนว่า "เป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ถูกหลงลืมได้ง่าย หรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ก๊าซเรดอนเป็นแหล่งกำเนิดรังสีไอออนิก และกว่า 50% ที่ทำให้ประชาชนได้รับรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในหลายประเทศ”


กำลังโหลดความคิดเห็น