“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หรือ E-waste นับวันก่อผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแทบทุกประเทศในโลก ซึ่งในแง่ผู้ซื้อ คนที่ใช้งาน ยังมีทางออกที่ดี ช่วยลดผลกระทบได้ทันที ก็คือ ลดการซื้อสินค้าใหม่ ด้วย “การซ่อมแซม”
ทว่าข้อมูลกรีนพีช ซึ่งมีการสำรวจประเมินดูสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแลปท็อปที่กำลังนิยมกว่า 40 แบบในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่า “ บริษัทผู้ผลิตเปิดช่องให้ผู้บริโภคเข้าถึงการส่งซ่อมอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำรองและคู่มือการซ่อมแซมสินค้าได้ยากขึ้น”
แนวทางลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง คือ การให้ผู้ซื้อ ผู้บริโภคใช้ประโยชน์ให้นานที่สุด "การซ่อม" จึงเป็นการลดจำนวนขยะที่ได้ผล เพราะช่วยยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เปลี่ยนส่วนที่แตกหรือเสียออกไป ใช้แบตเตอรี่คุณภาพดี หรืออัพเกรดหน่วยความจำให้มีความจุมากขึ้นตามที่ต้องการแทนที่จะซื้อเครื่องใหม่
วิธีการดังกล่าวส่งผลให้โลกเรามีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่กลบฝังน้อยลง และมีวัสดุที่จะส่งไปบดย่อยเพื่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลน้อยลงด้วย เนื่องจากการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิดนั้นมีวิธีการที่ยุ่งยาก เช่น โทรศัพท์มือถือทั่วๆ ไป มีโลหะเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 40 แต่เป็นโลหะผสม ทำให้ในการรีไซเคิล ต้องแยกโลหะแต่ละชนิดออกจากกันก่อนที่จะนำไปขายหรือใช้ต่อ ดังนั้นการซ่อมจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
การซ่อมแซมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ซื้อ แต่โรงงานผู้ผลิตซึ่งเป็นต้นทางก็สามารถซ่อมผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้เช่นกัน โดยร้อยละ 65 ของโทรศัพท์มือถือในสหรัฐอเมริกาเป็นสินค้าที่เคยมีเจ้าของมาก่อนและถูกนำมาซ่อมแซมเพื่อเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพใหม่จากโรงงาน ก่อนนำมาจำหน่ายอีกครั้ง โดยไม่ใช้วิธีรีไซเคิลที่สามารถทำเงินได้เพียง 50 เซ็นต์ต่อโทรศัพท์หนึ่งเครื่องเท่านั้น เพราะการนำโทรศัพท์มาซ่อมและจำหน่ายใหม่เช่นนี้จะทำเงินได้ถึง 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง และยังคงเก็บพลังงานและวัสดุทั้งหมดที่ถูกใช้ในระหว่างกระบวนการผลิตไว้กับเครื่องโดยที่ไม่มีการสูญเสียใดๆ อีกด้วย
แถมการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ยังช่วยให้คนรายได้น้อยในประเทศกำลังพัฒนาสามารถซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในราคาถูกและเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีได้มากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพช่างซ่อมซึ่งพัฒนามาเป็นช่างฝีมือและเป็นอาชีพได้ไม่ยาก หรือแม้แต่การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสองมาใช้ต่อ ในประเทศกำลังพัฒนาก็ยังมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากกว่าการรีไซเคิลในประเทศนั้นๆ รวมถึงยังทำให้เกิดการรณรงค์ให้ผู้คนเห็นประโยชน์ของการนำกลับมาซ่อมหรือแยกชิ้นส่วนได้ง่าย นี่จึงเป็นทางออกอย่างง่ายที่เริ่มต้นได้ทันทีหากมีการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักคิดกันตั้งแต่ต้นทาง
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวดูความเป็นไปได้ยากนัก เพราะไปสวนทางกับเป้าหมายของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งย่อมต้องการผลตอบแทนจากขายผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ทำนองเดียวกันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ใช้งาน ยังมีค่านิยมตามกระแสสังคม พอเครื่องสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดจึงต้องการเป็นแฟชั่นมากกว่าความจำเป็นจริงๆ
โดยทาง "กรีนพีช" ได้ระบุ 5 วิธีที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยีใช้เพื่อให้อุปกรณ์ที่คุณซื้อพังอย่างรวดเร็ว ว่า
ลองจินตนาการถึงโลกที่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้งานได้นาน หรือโลกที่อุปกรณ์ต่างๆของคุณสามารถซ่อมได้อย่างง่ายดาย ลองคิดดูสิว่าคุณจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากแค่ไหน
แต่พวกเราต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่าโลกในจินตนาการเหล่านั้นไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะโชคร้ายที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีรายใหญ่ทั้งหลายกำลังนิยมทำให้โทรศัพท์และอุปกรณ์อื่นๆ ซ่อมแซมและดูแลรักษาได้ยากยิ่งขึ้น
ทางกรีนพีซ ร่วมกับบริษัท iFixit ในสหรัฐอเมริกา เข้าไปประเมินดูสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแลปท็อปที่กำลังเป็นที่นิยมกว่า 40 แบบในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อดูว่าบริษัทผู้ผลิตเปิดช่องให้ผู้บริโภคเข้าถึงการส่งซ่อมอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำรองและคู่มือการซ่อมแซมสินค้าได้ง่ายมากน้อยเพียงใด ดังนี้
1. เครื่องมือต่างๆจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้ยากต่อการซ่อมแซมและดูแลรักษา
การเปลี่ยนหน่วยความจำหรืออัพเกรตฮาร์ดไดรฟ์ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างเคย ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่าชิ้นส่วนต่างๆถูกเชื่อมติดไว้กับแผงวงจร ทำให้ซ่อมได้ยากขึ้น สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆของแอลจี (LG) และซัมซุง (Samsung) รวมถึงแลปท็อปของแอปเปิล (Apple) เป็นตัวอย่างของการออกแบบเครื่องมือในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี
2. ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าโทรศัพท์บางรุ่นถูกสร้างมาให้บอบบางลงแทนที่จะทนทานยิ่งขึ้น
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่เคยทำโทรศัพท์พัง มันน่ารำคาญใช่ไหมล่ะ หนึ่งเหตุผลหลักก็เพราะโทรศัพท์พวกนี้มักมีส่วนที่ทำจากกระจกเป็นส่วนใหญ่ และแม้ว่าเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะนำเสนอกระจกที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆทุกปี แต่กระจกหน้าจอแตกก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก อันที่จริงแล้ว โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆส่วนมากมักมีกระจกหน้าจอขนาดใหญ่ ซึ่งยิ่งทำให้หน้าจอโทรศัพท์แตกง่ายยิ่งขึ้น เช่นโทรศัพท์ซัมซุง S8 รุ่นล่าสุดที่ออกแบบให้มีขอบเป็นกระจกทั้งด้านหน้าและหลัง ก็ได้รับการขนานนามว่า “โทรศัพท์ที่บอบบางที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
3. การเปลี่ยนแบตเตอรี่ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ายังจำโทรศัพท์ ซัมซุง กาแล็กซี โน็ต7 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องการระเบิดได้ไหม ทางซัมซุงอาจไม่ต้องเรียกเก็บโทรศัพท์หลายล้านเครื่องเช่นนี้หากโทรศัพท์รุ่นนี้ออกแบบมาให้สามารถถอดแบตเตอร์รีได้ง่าย แต่โชคร้ายที่เกือบ 70% ของอุปกรณ์ทั้งหมดที่เราได้เข้าไปสำรวจนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอร์รีได้หรือไม่ก็เปลี่ยนได้ยาก เนื่องจากถูกออกแบบมาให้เชื่อมแบตเตอร์รีเข้ากับฝาเครื่องอย่างแน่นหนา ทั้งแบตเตอร์รีของโทรศัพท์ซัมซุงกาแล็กซี S8 และของแมคบุ๊คเรตินาของแอปเปิลต่างก็ถูกเชื่อมติดกับแผงอุปกรณ์ในตัวเครื่อง
4. การเข้าถึงเครื่องมือเพื่อซ่อมอุปกรณ์ต่างๆด้วยตนเองนั้นเป็นไปได้ยาก
แม้ว่าการซ่อมอุปกรณ์ต่างๆจะยังเป็นไปได้แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงและเสียเวลาอย่างยิ่ง ทั้งยังมักจะต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะในการขันน็อตหรือใช้กับส่วนอื่นๆที่ผลิตมาแบบพิเศษ ทั้งไอโฟนของค่ายแอปเปิล (Apple) โทรศัพท์ R9m ของออปโป (Oppo) และโทรศัพท์ P9 ของหัวเว่ย (Huawei) ต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะในการซ่อมทั้งสิ้น
5. คู่มือซ่อมแซมอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำรองนั้นไม่สามารถหาได้ทั่วไป
แทบไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใดให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคถึงวิธีการซ่อมแซมสินค้า จาก17ค่ายผู้ผลิตที่ได้เข้าไปสำรวจ มีเพียง 3 ค่ายเท่านั้นที่มีชิ้นส่วนสำรองและคู่มือซ่อมแซมสินค้าให้ผู้บริโภค อันได้แก่ เดล (Dell) แฟร์โฟน (Fairphone) และเอชพี (HP)
การผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ได้นานขึ้นและสามารถซ่อมแซมได้ง่ายขึ้น นับเป็นย่างก้าวสำคัญที่ทางบริษัทอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้เพื่อช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหลายประการที่เกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การคัดแยกวัตถุดิบตั้งต้นบริสุทธิ์ การใช้สารเคมีอันตราย ไปจนถึงพลังงานจำนวนมากที่ใช้ในการผลิตในยุคที่ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าหลายล้านตันต่อปี
ก็ในเมื่อบริษัทเทคโนโลยีต่างก็พยายามเฟ้นหาว่าจ้างบุคคลอัจฉริยะของโลก แล้วทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงได้ไม่สามารถคิดพัฒนาสิ่งที่จะสามารถช่วยดูแลทรัพยากรอันจำกัดของโลกเราได้บ้าง?
กรีนพีช นำเสนอวิธีแก้ปัญหา
สิ่งที่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทำได้
1.เชื่อว่าผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้กำไรจากการขายสินค้าควรแสดงความรับผิดชอบตั้งแต่การผลิตไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายในวงจรชีวิตสินค้า เพื่อป้องกันวิกฤตเนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตต้องออกแบบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สะอาดปราศจากสารเคมีอันตรายที่มีอายุยาวนานขึ้น ที่รีไซเคิลที่ง่ายและปลอดภัย และ ไม่ทำให้คนงานและสิ่งแวดล้อมได้รับอันตรายจากสารเคมีหยุดใช้สารอันตราย: ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องหยุดใช้วัสดุที่เป็นอันตราย ซึ่งในหลายกรณีพวกเขาสามารถเลือกใช้สารอื่นที่ปลอดภัยกว่ามาทดแทนได้
2.นำสินค้ากลับคืน ผู้เสียภาษีไม่ควรเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อต้นทุนการรีไซเคิลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เก่า ผู้ผลิตควรจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตนผลิตตลอดวงจรชีวิตของมัน เมื่อถึงจุดที่สินค้านั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ผู้ผลิตควรนำสินค้าเหล่านั้นกลับคืนเพื่อนำมาใช้ใหม่ รีไซเคิล หรือ กำจัดอย่างปลอดภัย
สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้
1.สนับสนุนบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ไม่ใช้สารอันตราย หากจะซื้อสินค้าใหม่ ท่านสามารถตรวจดูการจัดอันดับยี่ห้อของคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และ โทรทัศน์ ได้ที่ หน้าคู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของกรีนพีซ
2.ก่อนที่จะซื้อสินค้าใหม่ ให้คิดอย่างถี่ถ้วนว่าท่านจำเป็นต้องใช้สินค้าตัวใหม่จริงๆ หรือไม่
3.ส่งอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วกลับคืนให้ผู้ผลิตเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ รีไซเคิล หรือ กำจัดอย่างปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.greenpeace.org
http://www.tcdc.or.th