xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือสิ่งสำคัญต่อโลกที่ต้องช่วยกันขยาย/ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy ไม่ได้สำคัญแค่สำหรับบริษัท สังคม หรือประเทศ แต่สำคัญสำหรับโลกโดยส่วนรวมด้วย ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปตั้งแต่เราเกิดมา ในทุกสังคมทุกประเทศที่เราเห็นจะพยายามพัฒนามาตรฐานการดำรงชีพ เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในกระบวนการผลิตและบริโภค เราไม่ค่อยให้ความสนใจกับสิ่งที่ผ่านมา
โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มแสดงความผิดปกติ เราผลิตโดยไม่สนใจมลภาวะ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวะที่ไม่ได้คิดว่าจะเห็นมาก่อน ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ผมยินดีที่ SCG ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานเพื่อสังคม แม้เรื่อง Circular economyจะไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะได้ใช้มาแล้วในบางประเทศ EU Scandinavia และญี่ปุ่น และระยะหลังเราก็เริ่มเห็นประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ผลิตลุกขึ้นมาทำ แต่ยังมีเหตุผลหลายอย่างที่ยังเป็นข้อจำกัด
ประการแรก คือ การสร้างความตระหนักรู้ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นไปได้ แต่สิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษยชาติจะดำรงต่อไปได้ในระยะยาว เราทราบดีว่าการสร้างความตระหนักรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางคนผลักไปสู่คนอื่นเขา แต่ถ้าในประเทศไทยสร้างความตระหนักรู้ไม่ได้ก็เกิดขึ้นไม่ได้
ประการที่สอง คือ Economic growth GDP เป็นเรื่องใหญ่ ระดับประเทศ หลายประเทศดิ้นรนให้พลเมืองมีอันจะกิน ให้คนอยู่รอดได้ เมื่อสิ่งนั้นเป็นจุด Focus ที่สำคัญ เรื่องอื่นก็เป็นรองไป ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น มีแค่บางประเทศที่มีการพัฒนาถึงจุดนั้นและคิดไปไกลกว่าประเทศอื่นก็จะลงมือทำ นี่คือข้อจำกัดของเรา
ประการที่สาม คือ ภาคเอกชนเป็นหลักสำคัญ ผมจำได้ว่าสมัยเรียนต่างประเทศซึ่งผ่านมา 30 ปี มี 2 องค์ความรู้หรือ School of though ที่สำคัญคือ
1. บริษัทจะสามารถดำรงอยู่ใน position ของตนอย่างไรในโลกของการแข่งขันให้ได้เปรียบในการแข่งขัน นี่คือแนวคิดของไมเคิล พอร์เตอร์ 30 ปีที่แล้ว พลังของแนวคิดนี้ทำให้ทุกประเทศในโลกและภาคเอกชนล้วนคิดอย่างเดียวว่าใน value chain เขาจะมีจุดไหนที่แข่งขันได้ แล้วโฟกัสไปที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น แนวคิดคือหาทรัพยากรมาให้ได้เปรียบที่สุด สร้างและคายมันออกมาเพื่อให้ขยายตัว ประเทศไทยเราเกือบทุกบริษัท หลายคนจบเอ็มบีเอก็ได้รับการถ่ายทอดแนวคิดนี้มา
2. อีกองค์ความรู้หนึ่งบอกว่า ในตลาดที่เราอยู่ ทำอย่างไรจึงจะออกจากตลาดแข่งขันสูงไปหาตลาดใหม่ หรือหา Blue ocean คือ ไปหาดินแดนใหม่ๆ ที่คนคิดไม่ถึง
สององค์ความรู้ดังกล่าว รวมวิธีการทำธุรกิจของคนแทบทั้งโลก แต่อย่าลืมว่าทั้งสองโรงเรียนนี้ เมื่อดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ ปลาก็หมด ทรัพยากรก็หมด จึงถึงเวลาที่เราต้องมายั้งคิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้มีอะไรที่ยังบกพร่องที่เราต้องเติมเต็ม แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลหรือเอกชน แต่เป็นเรื่องของประชาชนด้วย ถ้าประชาชนไม่สนใจก็ยากที่เอกชนจะมาสนใจ โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่ผมจะใช้คำว่าparadigm shift คือ มันไม่ง่ายที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนวิธีคิด Re-design กระบวนการผลิต หาสิ่งที่ยากมาแทนสิ่งที่คุ้นเคยกว่าที่เราได้รับการอบรมสั่งสอนมา ซึ่งถ้าประชาชนไม่มีระเบียบวินัยก็ยากที่จะเปลี่ยนความคิด
ถ้าให้ผมเปลี่ยนในเชิงการตลาด คงต้องบอกว่ามันเป็น Management of innovation หรือเป็นนวัตกรรม ซึ่งคนจะยึดนวัตกรรมและทำให้สำเร็จได้ต้องสร้างความตระหนักรู้ ชี้ให้เห็นประโยชน์ เพื่อให้สามารถระดมพลังได้มากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้ต้องชมเชยว่า SCG กล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้
ประเทศไทยต้องยอมรับว่าเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ช้าในเรื่องนี้ จนเราเห็นปลาวาฬเกยตื้นตายและพบพลาสติกเต็มไปหมด ถ้าไม่เห็นกับตาก็คงไม่เชื่อ แต่เห็นแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นนั่นคือสิ่งสำคัญ ประเทศเราดิ้นรนมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ไม่มีใครมีเวลาไปคิดเรื่อง circular economy แต่วันนี้เราดีขึ้นแล้ว จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้คิดอะไรไปข้างหน้า
รัฐบาลบอกว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ทันสมัยหรือแข่งชนะคนอื่น แต่เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น productivity หรือ value แต่ circular economyคือสิ่งที่เกื้อกูลต่อการสร้างมูลค่าและคุณค่านั้น แต่มันอยู่ไกลและคนไทยมองไม่เห็น ภาครัฐบาลเราเห็นชัด ท่านนายกรัฐมนตรีจึงบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินงานและการปักหมุดจุดเริ่มต้นว่าการพัฒนาประเทศต้องเน้นความยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นหลัง
การประชุม ครม. ครั้งที่แล้วพูดถึงขยะว่ายังไม่เป็นองค์รวมในการแก้ไขปัญหา และการประชุมBOI ที่ผ่านมาสัปดาห์ที่แล้วเราหารือกันว่านโยบายทางภาษีที่เป็นแบบ project by project จะต้องยึดแบบ Agenda approach ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลได้เราก็ยินดีช่วย และ Circular economy ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เพื่อทำให้ประเทศเราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเกื้อกูลโลก เพราะภาครัฐบาลจะต้องเป็นผู้ชี้แนะที่ดี ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อทำให้ทุกคนเข้ามาทำงานเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการภาษีและแรงจูงใจ ซึ่งเป็นองค์รวมที่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะมานั่งคุยกัน และในไม่ช้าทุกท่านจะได้เห็นแน่นอน
ในส่วนของภาคเอกชน วันนี้เป็นจุดเริ่มต้น แต่ผมคิดว่าไม่ง่าย เพราะการพูดคุยกับเอกชนให้มีจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคนมาทำแล้วถอดใจเพราะบอกว่าถ้าคิดกลับไปเป็นตัวเงินไม่ได้ก็ไม่อยากทำ แต่ยุคนี้เอกชนมีจิตสำนึกเพียงพอและต้องเป็นการรวมพลังเคลื่อนไหวทางสังคม โดยต้องให้ตลาดหลักทรัพย์ หอการค้าฯ หรือสภาอุตสาหกรรมเข้ามาร่วม จึงจะเกิดพลังยิ่งใหญ่ในการการสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน
งานวันนี้ คือจุดเริ่มต้นที่ช่วงแรกอาจจะลำบากเพราะต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะเกิดประโยชน์กับท่านเอง การสร้างตัวอย่าง สื่อสาร และให้สื่อมวลชนช่วยขับเคลื่อนเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและร่วมเคลื่อนไหวไปพร้อมกับภาคเอกชน คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาเรื่องนี้ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่ง เอกชนจึงควรต้องใช้โอกาสนี้ระดมพลมาให้เกิดความตื่นตัว
แต่ที่สำคัญคือภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและกระตุ้นให้เกิดขึ้นตัวอย่างง่ายๆ คือการใช้กระเป๋าหนังจระเข้ แรงกดดันที่ดีที่สุดที่ทำให้เลิกใช้ได้คือประชาชน ฉะนั้นถ้าท่านจะไม่ใช้ถุงที่ย่อยสลายไม่ได้ ท่านก็ต้องใช้ประชาชนเป็นกลุ่มที่สร้างแรงผลักดัน
ความร่วมมือกันในวันนี้ไม่ใช่แค่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น แต่ภายนอกก็สำคัญ เพราะของเสียจากอุตสาหกรรมหนึ่งอาจใช้งานได้กับอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง จึงควรค่อยๆ ปลูกฝังในผู้ประกอบการ และถ้าสามารถสร้าง Startup ใหม่ๆ บนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ แนวคิดนี้ก็จะสามารถข้ามแนวคิดเดิมๆ ในอดีตได้ เช่น Startup ที่จะเอาขยะมาเปลี่ยนเป็นของที่มีคุณค่า คนรุ่นใหม่จึงมีความสำคัญมากไม่แพ้คนรุ่นเก่า
ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็จะทำได้หมด ทั้งวินัยเศรษฐกิจหรือการเมือง เราจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในทางที่ดีด้วยการให้คนที่มีประสบการณ์จะเข้ามาชี้แนะ ที่น่ายินดีคืองานเย็นวันนี้มีCEO มาเกือบ 40 คนก็จะช่วยสร้างพลังให้เกิดขึ้นได้
(คำกล่าวจากงาน “SD Symposium 2018” งานสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เอสซีจีจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2561)
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ผมต้องขอบคุณ SCG ที่จัดงานนี้ขึ้น เพราะมีเกือบพันคนจากทุกภาคส่วนที่ให้ความสนใจงานนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและแสดงให้เห็นถึงพลังของสังคมไทยว่าถ้ามีเรื่องดีๆ ที่ทำเพื่อสังคมไทยและสังคมโลกแล้ว คนไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย


กำลังโหลดความคิดเห็น