xs
xsm
sm
md
lg

Chula Zero Waste แจ่มอีก !! ดีเดย์ “แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ” 7 โรงอาหาร 10 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้ 100%

ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมเป็นต้นไป ใครเข้าไปซื้อกาแฟเย็น เครื่องดื่มชนิดต่างๆ จากร้านภายในโรงอาหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อนหน้าเขาใช้ภาชนะแก้วพลาสติก ก็จะได้ลองใช้ภาชนะรูปแบบใหม่ซึ่งเป็น Zero-Waste Cup หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้ 100%
โรงอาหารที่ใช้ Zero-Waste Cup รวม 7 แห่งนำร่อง เช่น โรงอาหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ โรงอาหารคณะครุศาสตร์ และโรงอาหารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากนั้นจะขยายการใช้ไปยังโรงอาหารทั้งหมดในจุฬาฯ รวม 17 แห่งภายใน 3 เดือน โดยประเมินว่าจะสามารถลดขยะจากแก้วพลาสติกได้มากกว่า 2 ล้านใบต่อปี และที่ผ่านมาได้มีการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจทั้งในส่วนของผู้บริหาร ผู้ค้าในโรงอาหาร ตัวแทนนิสิตนักศึกษา พบว่าทุกฝ่ายให้การตอบรับค่อนข้างดี
“ความจริงแล้วเราต้องการให้ทุกคนพกแก้วส่วนตัวมาใช้เอง เพื่อเป็นการช่วยลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แก้วพลาสติกก็เป็นอีกอย่างที่คนยุค 4.0 ใช้กันมากในแต่ละวัน และเป็นการส่งเสริมให้ตระหนักช่วยกันแยกขยะ แยกแก้วที่ใช้แล้วทิ้งลงในถังขยะที่มีให้เลือก อย่างแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ทางสำนักบริหารระบบกายภาพก็จะรวบรวมนำไปยังโรงปุ๋ยหมักของจุฬาฯ โดยหมักร่วมกับเศษอาหารและใบไม้เพื่อทำเป็นสารปรับปรุงดิน” ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste กล่าวอีกว่า
“ถ้าให้ดีที่สุด พกแก้วส่วนตัวมาเองดีกว่า เพราะตั้งแต่ 10 กรกฎาคมนี้ ร้านขายน้ำในโรงอาหารที่เข้าร่วมโครงการก็จะให้ส่วนลด 2 บาท”
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี และ วรุณ วารัญญานนท์
ในปีแรกของโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งมีถึง 18 โครงการ เราเน้นสร้างกลไกในการทำงาน ตั้งคณะทำงาน วางแนวปฏิบัติ ที่ทำมากๆ จึงเป็นการเตรียมระบบรองรับ “การส่งเสริมการลดขยะและแยกขยะ” ระบบรองรับ หมายถึง เช่น ขยะที่เห็นในมหาวิทยาลัยส่วนมากเป็นขวดน้ำพลาสติก เหตุเพราะไม่มีตู้กดน้ำและไม่ได้พกขวดน้ำดื่มมา ระบบรองรับที่ทำก็คือ ตั้งตู้กดน้ำก่อนในทุกโรงอาหาร และขยายไปตามอาคารเรียนเพื่อให้นิสิตและบุคคลากรเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งตอนนี้ตู้กดน้ำดื่มมีถึง 45 ตู้ทั่วมหาวิทยาลัย แม้จะสร้างภาระที่จะต้องดูแลรักษาตู้กดน้ำให้มีน้ำดื่มสะอาดอยู่เสมอด้วยการเปลี่ยนไส้กรองทุก 3 เดือน แต่ก็เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยของเราสนับสนุนและส่งเสริมให้คนในจุฬาฯ ลดขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ถึงจะเปลืองน้ำ แต่น้ำเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนได้
เราพยายามสื่อสารข้อมูลการย่อยสลายพลาสติกและโฟม ให้นิสิตและคนที่เข้ามาเยือนจุฬาฯ ได้รู้ว่า “เวลาเราใช้ประโยชน์หรือ ดื่มน้ำเพียง 10 นาทีก็ทิ้งเป็นขยะ แต่ขยะพลาสติกยังอยู่กับโลกอีกนานเป็น 100 ปี” นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราทำขึ้นในช่วงปีแรก
โครงการลดถุงพลาสติก โดยงดแจกถุงฟรีในจุฬา เปลี่ยนเป็นเก็บเงิน 2 บาท ใช้เวลา 1 ปี 7 เดือน ลดไปถึง 2 ล้านใบ ก็เตรียมต่อยอดขยายไปยังตลาดนัดจุฬา และฝั่งแพทย์ “ก่อนจะเริ่มโครงการนี้ มีปริมาณการใช้ถุงประมาณ 130,000 ใบต่อเดือน ช่วงแรกรณรงค์ซื้อของน้อยไม่รับถุงได้ไหม? ลดไปได้ 30% ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา งดแจกถุงฟรีเปลี่ยนเป็นเก็บเงิน 2 บาท ลดไปเกือบ 90% จำนวนถุงที่ใช้เหลือแค่หลักหมื่นต่อเดือน และบางส่วนก็จะมีข้อยกเว้น เช่นใส่ของร้อน แต่สหกรณ์ของจุฬาฯ ไม่มีถุงให้เลย
วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง Zero-Waste Cup ซึ่งได้ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในการพัฒนาแก้วกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เพื่อใช้ทดแทนแก้วพลาสติกภายในรั้วมหาวิทยาลัย
ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์แก้วกระดาษ ประกอบด้วย 1.กระดาษชนิดพิเศษที่สามารถย่อยสลายได้ 2.สารเคลือบไบโอพลาสติกประเภท PBS ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 3.หมึกพิมพ์น้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) โดยจากการทดสอบทำปุ๋ยหมัก พบว่าแก้วแต่ละใบสามารถย่อยสลายจนหมดได้ภายใน 4-6 เดือน หรือหากตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ไว้ตามโคนต้นไม้ก็สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่เกิน 12 เดือน
จากการเก็บตัวอย่างดินหลังย่อยสลายแก้วกระดาษไปทดสอบ พบว่านอกจากจะไม่มีสารพิษตกค้างแล้ว ยังทำให้ดินมีคุณภาพมากกว่าดินทั่วไป แม้จะไม่ถึงระดับปุ๋ย แต่นับว่าอยู่ในระดับสารปรับปรุงดิน อย่างไรก็ตามความสำคัญคือการจัดการอย่างครบวงจร หรือ Closed-loop เพื่อให้แก้วที่ผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพนี้ ย่อยสลายจนหมดไปตามเจตนารมณ์
"แก้วกระดาษและพลาสติกชีวภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ยังขาดคือการจัดการอย่างครบวงจร แม้จะมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มากขึ้น แต่หากจัดการไม่ถูกต้องจนในที่สุดขยะเหล่านี้หลุดรอดลงทะเล ซึ่งมันจะไม่ย่อยสลายและกลายเป็นปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้นทางจุฬาฯ จะมีการรวบรวมแก้วที่ใช้แล้วเพื่อกลับมาทำปุ๋ยหมักทั้งหมด และคาดหวังให้เป็นโมเดลการจัดการขยะในสังคมต่อไป"


กำลังโหลดความคิดเห็น