สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิด “เวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561” (Trade and Development Regional Forum 2018) 2561 ระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 เวลา 8.30-17.00 น. ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” (Transformation towards Innovative Trade and Development Agenda for Regional Integration) โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เป็นเจ้าภาพในการจัดการ
งานปีนี้ได้รับเกียรติจากดร.มูคิซา คิทูยี (Dr.Mukhisa Kituyi) เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การเข้าสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” (Towards Innovative Trade and Sustainable Development Agenda for Regional Integration) พร้อมร่วมยินดีกับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ของ ITD ส่วนงานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ได้รับเกียรติจากดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการอังค์ถัด กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภาวะการสูญเสียดุลยภาพของระเบียบโลกและผลกระทบต่อระบอบการค้า”
ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ ITD เปิดเผยว่า ในฐานะที่ ITD เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นโดยความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เพื่อส่งเสริมการค้า การพัฒนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความความตกลงที่เกิดขึ้น จึงได้จัดเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ภายใต้หัวข้อ “การเชื่อมโยงการค้าและการพัฒนาเพื่อความเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” (Linking Trade and Development for Inclusive & Sustainable Growth) ขึ้นในปี 2560
มาในปี 2561 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) จึงจัดงานประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” (Transformation towards Innovative Trade and Development Agenda for Regional Integration) เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็นในประเด็นใหม่ๆ ด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาในภูมิภาค ตลอดจนประเด็นท้าทายที่มีผลกระทบต่อการค้าและการพัฒนา และเพื่อเชื่อมโยงและกระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการด้านการค้า การลงทุนที่สนองตอบต่อโลกยุคใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัฒน์แบบรุนแรง (Hyper Globalization) การปฏิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 (Industrial 4.0) และการพัฒนาเศรษฐกิจ ดิจิทัล (Digital Economy) เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งโอกาสและการคุกคาม ซึ่งมีนัยอันลึกซึ้งต่อการค้า การพัฒนาและการลงทุน ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้
อีกทั้งการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะส่งผลให้ความตกลงหรือข้อบังคับทางการค้าการลงทุนแบบพหุภาคีล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม เช่น เกิดความเหลื่อมล้ำ และการว่างงานที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้มีการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากรูปแบบการค้า การลงทุนขึ้นใหม่ในยุคดิจิทัลได้เช่นกัน ดังนั้น การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการพัฒนาเข้าด้วยกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องอาศัยกระบวนทัศน์ และระบบการคิดแบบใหม่ ทั้งในเชิงนโยบายและความร่วมมือเป็นหุ้นส่วน จึงมีความจำเป็นและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ควรมีเวทีให้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในภูมิภาคเอเชีย มาร่วมหารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อเสนอแนะนำในประเด็นนวัตกรรมการค้า การลงทุน ยุคใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนชั้นนำจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรวมเกือบ 300 คน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความเคลื่อนไหวด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาต่างๆ ตลอดสองวันของการจัดงาน อาทิ งานเสวนาหัวข้อ “การตระหนักถึงเป้าหมายการบูรณาการของภูมิภาคด้วยการค้าดิจิทัลอย่างทั่วถึง” การนำเสนอรายงานการลงทุนโลก ประจำปี 2561 การเสวนาหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสถาบันเพื่อการบูรณาการของภูมิภาค” การเสวนาหัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” การเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายของเทคโนโลยีอุบัติใหม่อันรวดเร็ว และอนาคตของสังคมที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง”
รวมถึงไฮไลต์สำคัญคือ การแถลงรายงานชิ้นสำคัญจากธนาคารโลก ภายใต้หัวข้อ “ความมั่งคั่งแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลง: ยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคในยุคแห่งความยั่งยืน” (The Changing Wealth of Nations): Strategies for Asia-Pacific in the Age of Sustainability) ที่นำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยพิจารณาจาก 4 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ ทุนด้านการผลิต ทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ และทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถแสดงการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และสามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศนั้นๆ ออกมาได้