xs
xsm
sm
md
lg

“ลดพลาสติกในทะเล” ดร.ธรณ์ กระทุ้งอีก “โมเดลสหราชอาณาจักรเหมาะกับไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุที่โมเดลของสหราชอาณาจักรเหมาะสมกับการเริ่มต้นในไทย เพราะเป็นการเริ่มจากห้างซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ซึ่งจะต้องเก็บค่าถุงพลาสติกจากลูกค้า เมื่อทำในไทยก็อาจมีการกำหนดเกณฑ์ของห้างที่ต้องเข้าร่วม โดยอาจใช้เกณฑ์จากจำนวนพนักงาน หรือขนาดพื้นที่
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ทางออกที่ชัดเจนคือจัดการกับปัญหาถุงพลาสติกด้วยการขายถุง" เริ่มจากในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ก่อนยกระดับยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ไปจนถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมทดแทนไบโอพลาสติก
สถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเลไทยกำลังย่ำแย่มาก และปัญหาดังกล่าวสะสมมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันก็เป็นที่รู้กันว่าไทยติดอันดับ 6 ของโลก ดังนั้น อยากให้มองว่า ขยะที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองไหลลงทะเล ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยฝ่ายเดียว แต่ขยะได้ลอยออกไปยังที่ต่าง ๆ และส่งผลกระทบต่อนานาประเทศ ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้จะแตกตัวเป็นเม็ดเล็กๆ เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” สามารถปนเปื้อนเข้าไปในวงจรอาหารของสัตว์ ซึ่งผลกระทบนั้นไม่ได้ฆ่าวาฬอย่างเดียว แต่จะเข้าไปอยู่ในวงจรอาหารด้วย
“ลองคิดดูสิ! คนไอซ์แลนด์ เขาใช้ถุงพลาสติก 3 ใบ /เดือน ขณะที่คนไทยใช้ 240 ใบ /เดือน ถามว่า แฟร์หรือไม่กับการที่คนไอซ์แลนด์ ต้องมาเดือดร้อนกินเม็ดพลาสติกที่มาจากคนไทย เพราะฉะนั้นบทลงโทษของโลกกับประเทศไม่รักธรรมชาติ จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากอนาคตไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าปลาในทะเล”

ดร.ธรณ์ ยังระบุว่า การรณรงค์ที่ผ่านมา นับว่าไม่เคยได้ผล แม้ว่าจะรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกมากันเป็นสิบๆ ปี ซึ่งคนไทย เฉลี่ยแล้วใช้ถุงพลาสติก 8 ใบต่อวัน แต่ถ้าเทียบกับคนในยุโรปใช้ถุงพลาสติกเพียง 5 ใบต่อเดือนเท่านั้น นี่คือสิ่งที่คนไทยต้องหันมาทบทวนกัน ฉะนั้นเราควรแก้ปัญหาที่ตัวเราก่อน โดยเฉพาะการแบนการกลบฝังขยะ เพราะหากเกิดน้ำท่วมขัง ขยะก็ไหลไปตามสายน้ำอยู่ดี
“การนำมาตรการที่ใช้หลักวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการพลาสติก เช่น การให้ผู้บริโภคจ่ายค่าถุงพลาสติก หรือการออกกฎเกณฑ์กับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ ที่จริงก็ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่เราจะเริ่มเสียที"
ดร.ธรณ์ ย้ำอีกว่า "คำถามก็คือเราจะเดินหน้าด้วยความเร็วขนาดไหน เพราะแต่ละส่วนก็มองปัญหาพลาสติกในทะเลแตกต่างกัน แต่ผมทำงานในเรื่องนี้ คิดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ"


กำลังโหลดความคิดเห็น