SME Development Bank ปรับเกณฑ์ให้สินเชื่อเพื่อใช้สต๊อกวัตถุดิบเกษตรจากไม่เกิน 3 เท่าของยอดขายต่อเดือนเป็น 9 เท่า มุ่งลดปริมาณสินค้าเกษตรล้นตลาด โดยเฉพาะ “สับปะรด”และ “กล้วย” เชียร์ผู้ปลูกพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ยกระดับขึ้นแท่นเอสเอ็มอีภาคเกษตร
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารดำเนินการปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อเพื่อการเก็บตุน (stock) วัตถุดิบเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูปจากไม่เกิน 3 เท่าของยอดขายต่อเดือนเป็น 9 เท่าของยอดขายต่อเดือน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มโรงงานอาหารแปรรูป สินค้าเกษตรแปรรูป และห้องเย็น เป็นต้น มีเงินทุนมากยิ่งขึ้น สำหรับนำไปซื้อวัตถุดิบเกษตรต่างๆ ซึ่งเวลานี้ ล้นตลาด โดยเฉพาะ “สับปะรด”และ “กล้วย”ช่วยพยุงราคาสินค้า ลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไป และเพิ่มโอกาสการระบายสินค้าแก่เกษตรกร ในขณะเดียวกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบการเกษตรจำนวนมากๆ ได้ซื้อวัตถุดิบคุณภาพดีในราคาถูก เป็นการลดต้นทุน และยังมีวัตถุดิบเก็บตุนไว้แปรรูปจำนวนมาก ช่วยให้ธุรกิจไม่สะดุด
ทั้งนี้ สินเชื่อที่ธนาคาร ปรับเกณฑ์ ล้วนแต่เป็นกลุ่มสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ สินเชื่อเถ้าแก่4.0สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน เปิดโอกาสให้รายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม)ให้ชำระแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปีผ่อนชำระเพียง 410 บาทต่อวันเท่านั้นและสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับกลุ่มบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลประเภทธุรกิจเกษตรแปรรูปธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนและเชื่อมโยงต่อเนื่องรวมทั้งผู้ประกอบการใหม่มีนวัตกรรม ธุรกิจผลิตหรือบริการต่างๆในชุมชน จะพาเข้าใช้บริการ คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปีแรกผ่อนนาน 7 ปี ไม่มีหลักประกัน สามารถใช้บสย.ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรกโดยกู้ 1 ล้านบาทผ่อนเพียง 460 บาทต่อวันเท่านั้น โดยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ จะมุ่งใช้ “เกณฑ์” กับ“คุณสมบัติ” เป็นหลักสำคัญซึ่งจะทำให้การพิจารณาเกิดความเท่าเทียม และรวดเร็ว สามารถรู้ผลการพิจารณาได้ในเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น
นายมงคล กล่าวเสริมว่า สำหรับเกษตรกรที่เดิมเคยแต่ปลูกและขายวัตถุดิบเท่านั้น หากต้องการยกระดับธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป หรือต่อยอดทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถเข้ามาใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวข้างต้นได้เช่นกัน ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนเพราะสามารถทำธุรกิจด้านเกษตรได้ครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า ขยายตลาดได้กว้างไกลทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญ หลีกเลี่ยงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
“ผมอยากให้เกษตรกร นำปัญหาที่เกิดขึ้น มาพลิกให้กลายเป็นโอกาส ในการยกระดับตัวเอง จากผู้เพาะปลูกสินค้าเกษตรสู่การเป็นเอสเอ็มอีภาคเกษตร มีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ ทั้งการแปรรูป เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดย SME Development Bank พร้อมจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ควบคู่กับความรู้ รวมถึงช่องทางการตลาดด้วย” นายมงคล กล่าว