xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ ผนึก “รร.ชุมชนบ้านวัด” สร้างแหล่งเรียนรู้ฝึกทักษะอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



“โรงเรียนชุมชนบ้านวัด” ในพื้นที่อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นโรงเรียนเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีอายุยาวนานถึง 102 ปี จากยุคสมัยเริ่มต้นนักเรียนเคยอาศัยศาลาวัดบ้านวัดเป็นที่เล่าเรียน แต่ในปัจจุบันที่นี่กลายเป็นโรงเรียนขนาดกลาง อยู่บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ มีนักเรียน 232 คน และคุณครู 16 คน
ร.ร.ชุมชนบ้านวัดได้รับการประกาศให้เป็นโรงเรียนสีขาว เนื่องจากคณะผู้บริหารและคุณครู ตระหนักความสำคัญกับการจัดกิจกรรมให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ในการบริหารจัดการการศึกษา และพัฒนาด้านวิชาชีพ รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันยาเสพติด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่กระจายของยาเสพติด
นอกจากความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนแล้ว ยังฝึกทักษะอาชีพเพื่อสอนให้นักเรียนรู้จักพึ่งพาตนเอง ผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของโรงเรียนและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบ เช่น กิจกรรมการเลี้ยงปลาดุกในกระชังบก กิจกรรมการปลูกถั่วดาวอินคา ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย กิจกรรมการปลูกกล้วยน้ำว้า กิจกรรมปลูกฟักข้าว เป็นต้น


ธนยศ ปะเสทะกัง ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า โรงเรียนน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักให้นักเรียนปฏิบัติผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการฝึกทักษะอาชีพเพื่อให้นักเรียนมีพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือครอบครัวได้ รวมทั้งในอนาคตหลังจากที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาแล้ว ก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ อาทิ การแปรรูปฟักข้าวเป็นสบู่ หรืออาชีพของหลายๆครัวเรือนในชุมชน คือ เลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อแปรรูปขาย ซึ่งสร้างรายได้ได้อย่างดี ในราคากิโลกรัมละ 80-120 บาท เป็นต้น
“โรงเรียนชุมชนบ้านวัด” เป็น 1 ใน 40 โรงเรียนนำร่องที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School และเป็นโรงเรียนในโครงการ“ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน" หรือ คอนเน็กซ์อีดี ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ภายใต้เป้าหมายยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน
คุณครูเพ็ญโฉม จั่นโพล้ง ครูหัวหน้างานวิชาการ ซึ่งสอนที่โรงเรียนชุมชนบ้านวัดมาเป็นเวลา 32 ปี บอกว่า ด้วยสภาพปัญหาในพื้นที่ของโรงเรียนซึ่งเด็กๆ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของขบวนการยาเสพติด ทำให้โรงเรียนประสานร่วมมือกับตำรวจในพื้นที่คอยเข้ามาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของยาเสพติด รวมทั้งนิมนต์เจ้าอาวาสจาก“วัดบ้านวัด”ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆโรงเรียนมาช่วยอบรมนักเรียน ทำให้ปัจจุบันนักเรียนของเราไม่พบปัญหายาเสพติดเลย ขณะเดียวกันแนวทางของโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมกีฬาและทักษะวิชาชีพ ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

น้องๆ ชื่นชมกิจกรรมของโรงเรียน
“น้องแตงกวา” หรือ ด.ญ. สิริวรรณญา เฉี่ยงกลาง นักเรียนชั้น ม.2 ซึ่งมีส่วนร่วมกิจกรรมปลูกถั่วดาวอินคา เล่าว่า คุณครูสอนวิธีปลูกถั่วดาวอินคา ทำให้ได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การลงแปลงปลูก การดูแล เราเพิ่งปลูกถั่วดาวอินคากันเมื่อเทอมที่ผ่านมา ตอนนี้ถั่วดาวอินคาที่ปลูกไว้ในโรงเรียนทั้งหมด 3 แปลง เริ่มออกดอกแล้ว คุณครูบอกว่าถั่วดาวอินคามีประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะเมล็ดดาวอินคาซึ่งมีรูปร่างคล้ายถั่ว เมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีน้ำตาลดำ นำไปคั่วหรือทำให้สุก สามารถนำเมล็ดมากินได้
ด้าน “บาส”หรือ ด.ช. ตันติกร อ่อนนอก นักเรียนชั้น ม. 3 เล่าว่า ร่วมกิจกรรมปลูกกล้วยน้ำว้ามาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม. 2 เนื่องจากในชั่วโมงเรียนสุดท้ายของทุกวัน เป็นชั่วโมงเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะด้านวิชาชีพและลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมต่างๆ โดยชั้นม. 1 เรียนรู้เรื่องปลูกถั่วดาวอินคา ชั้นม.2 เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกกล้วยน้ำว้า และชั้นม.3 ดูแลทั้งกิจกรรมปลูกถั่วดาวอินคาและปลูกกล้วยน้ำว้า
“ผมและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการขุดหลุมเพื่อเตรียมลงกล้วยน้ำว้า วิธีการปลูก ใส่ปุ๋ย ถางหญ้า กำจัดวัชพืช และช่วยกันเก็บผลผลิตจากกล้วยน้ำว้า ซึ่งผลผลิตที่เก็บได้ ส่วนหนึ่งนักเรียนได้รับประทานในมื้อกลางวัน อีกส่วนหนึ่งนำไปขายให้แก่ชุมชนในราคาหวีละ 20 บาท บางครั้งผลผลิตกล้วยออกมามาก ก็ส่งให้แม่ครัวทำเป็นกล้วยฉาบหรือกล้วยบวชชีขายให้ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชน” น้องบาสเล่า
บาส บอกด้วยว่า นักเรียนแต่ละชั้นเรียน ยังมีส่วนช่วยกันในกิจกรรมเลี้ยงปลาดุกในกระชังบก โดยน้องๆ ป.4-ป.6 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ให้อาหารปลา ส่วนตัวบาสก็มักจะช่วยคุณครูซ่อมกระชังที่ชำรุดหรือเสียหาย ซึ่งกิจกรรมเลี้ยงปลาในกระชังบกนี้ มีพี่ๆจากซีพีเอฟส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงปลาเข้ามาอบรมให้ความรู้การเลี้ยงปลาดุกให้กับทางโรงเรียน



กำลังโหลดความคิดเห็น