วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day of Biological Diversity) เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มมีผลบังคับใช้
ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งมีชีวิตนานาชนิด เช่น พืชและสัตว์รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันตามหน่วยของพันธุกรรมและสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์ หากถิ่นที่อยู่อาศัยมีความแตกต่างกันมากเพียงใดก็ยิ่งมีสิ่งชีวิตหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
"พื้นที่อนุรักษ์" เครื่องมือปกป้องให้คงอยู่ยั่งยืน
เพราะพื้นที่อนุรักษ์ (Protected Areas) เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น พื้นที่อนุรักษ์ควรเป็นหน่วยทางนิเวศวิทยาที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่พอเพียง ซึ่งมีหลายๆ กรณีที่นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นต้องการเนื้อที่ในการดำรงชีวิตที่ครอบคลุมถิ่นกำเนิดธรรมชาติหลายประเภทในการดำรงชีพซึ่งต้องการเนื้อที่มากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้ประกาศเสียอีก 88% ของนกป่าในประเทศไทยปรากฎอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพียง 7.8% เท่านั้น
พื้นที่อนุรักษ์ยิ่งมีขนาดเล็ก ยิ่งจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของแนวขอบป่า (edge effect) มาก อิทธิพลแนวขอบป่า (edge effect) ก็คืออัตราส่วนระหว่างระยะทางของแนวขอบป่ากับเนื้อที่ภายใน ตามแนวขอบป่าแสงสว่างจะส่องเข้าไปข้างในป่าได้มาก อากาศใกล้ผิวดินตามแนวขอบป่าก็ผันแปรมาก เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น พืชหลายชนิดได้ปรับตัวเองให้เข้าอยู่กับสภาพภายในป่า ตามขอบป่าอยู่ไม่ได้ การมีขอบป่ามาก ๆ มลพิษและคนอพยพเข้าไปทำลายได้ง่าย
ส่วนพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีสภาพเป็นเกาะ อยู่ท่ามกลางป่าที่เสื่อมโทรม หรือท่ามกลางบริเวณที่ปลูกพืชไร่ การแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เช่น โดยการตัดถนน หรือโดยอ่างเก็บน้ำที่เป็นแนวยาว เกิดจากการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในที่สุด นั่นทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง พื้นที่ยิ่งมีขนาดเล็ก จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบจะมีจำนวนชนิดลดตามลงด้วย
กฎง่าย ๆ ตามทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Theory of Island Biogeography) บอกว่า "ถ้าสูญเสียพื้นที่ไป 90% (มีเหลือเพียง 10%) ในที่สุดจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง" พื้นที่อนุรักษ์จึงไม่ควรต่ำกว่า 10% ความจริงโลกเรามีพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3.2% เท่านั้น
สาเหตุนี้เอง ป่าดั้งเดิมจึงควรเป็นจุดศูนย์กลางของการอนุรักษ์ ส่วนป่าที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังป่าดั้งเดิมถูกทำลาย (secondary forest) นั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน ป่ารุ่นสองนี้บางทีเรียกว่าป่าเหล่า ป่าใส หรือไร่ทราก มีพันธุ์พืชและสัตว์หลายชนิดที่พบเฉพาะในป่ารุ่นสอง แต่ไม่พบในป่าดั้งเดิม มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในป่ารุ่นสองนี้มีพืชอาหาร และสมุนไพรที่เป็นประโยชน์หลายชนิดเปอร์เซ็นต์ พืชที่เป็นประโยชน์ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่พบในป่าดั้งเดิมเสียอีก ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ป่ารุ่นสองไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันวิธีการป้องกันรักษาป่าโดยวิธีจับกุมปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันเพื่อมุ่งลดความกดดันที่เกิดจากคนที่มีต่อป่า โดยให้คนผลิตอาหารพอเพียงต่อปากท้อง ดำรงชีพอยู่ได้ มีไม้ใช้สอยไม่ต้องเบียดเบียนจากป่าธรรมชาติ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ มีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการให้เขาทราบว่า การอนุรักษ์ป่านั้นก็เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่น และรัฐบาลด้วย
ความเป็นจริงประเทศไทย ร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เพราะ
-ความหลากหลายทางชีวภาพได้มีส่วนสนับสนุนค้ำจุนให้วิถีชีวิตของคนไทยดำเนินไปโดยสมบูรณ์พูนสุข ไม่แร้นแค้น อดอยากหิวโหย
-ความหลากหลายทางชีวภาพทำให้อาหารไทยมีความหลากหลาย ในรูปแบบ กลิ่น และรส
-ความหลากหลายทางชีวภาพปรากฏในยาพื้นบ้าน ทั้งที่ใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และใช้บำรุงรักษาสุขภาพอนามัย
-ความหลากหลายทางชีวภาพยังทำให้คนไทยไม่ขาดเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
-นอกจากนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นที่ชื่นชมในประเพณีไทยที่ยังคงสืบทอดมาจนปัจจุบัน