หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับการเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” เนื่องจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การพักผ่อน การออกกำลังกาย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนอยู่อาศัย และยังช่วยลดปัญหาทางสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่ขาดสำหรับคนกรุงเทพฯ ในวันนี้ ก็คือ พื้นที่สีเขียวยังน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ทุกวันนี้พื้นที่กรุงเทพฯ แออัดไปด้วยผู้คนอาศัยกว่า 10 ล้านคน พร้อมกับรถยนต์ จักรยานยนต์วิ่งบนถนนวันละกว่า 10 ล้านคัน ก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งปัญหาจราจร มลภาวะอากาศเป็นพิษ
สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวง ให้มีอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนตามมาตรฐานสากล ถึงจะเป็นเป้าหมายที่กทม.พยายามไปให้ถึง แต่พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วยนั้นสำคัญกว่ามาก”
ในหลายประเทศที่เจริญเเล้ว การเพิ่มป่าในเมืองช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วย ที่ผ่านมา กทม.ลงทุนเรื่องการสร้างป่าอย่างมาก มีเงินลงทุนอยู่ที่ไร่ละล้าน แต่โจทย์ของเราคือไม่ใช่มุ่งแต่เพิ่ม แต่ถ้าคนไม่มาใช้ก็ไม่ก่อประโยชน์ที่คุ้มค่า เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรให้พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นประชาชนสามารถเข้าถึงได้
ปัจจุบันกรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียว อยู่ที่ 6.18 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่สถานการณ์การเพิ่มพื้นที่สี่เขียว แม้ว่าของเรายังน้อยหากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย การเพิ่มพื้นที่ กทม.ต้องทำงานลำบาก หาที่ใหม่ๆ ยาก เพราะการลงทุนทางธุรกิจ ย่อมคุ้มกว่าการทำพื้นที่สีเขียว จึงทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเหลือแล้ว
ใน 10 ปีข้างหน้า กทม.หวังว่าจะมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน แต่จะมากเท่าประเทศที่วางผังดี เราคงสู้ไม่ได้ เรื่องนวัตกรรมที่เราใช้ เรามีการรวบรวมข้อมูลผ่านข้อมูลสารสนเทศ แยกแยะประเภทของสวนสาธารณะ จากจำนวนสวนสาธารณะ 412 แห่ง เราเคยเทียบเคียงกับมาตรฐานของสิงคโปร์ (singapore index) พบว่าหากเราเอามาใช้เราจะเสียเปรียบในแง่พื้นที่ เพราะเขาคือประเทศที่เป็นลักษณะรัฐ (state country) ส่วนเราคือ ลักษณะเมืองหนึ่งเมืองเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่า เขาพัฒนาไปเร็วมาก
เป้าหมายของกรุงเทพฯ เราต้องเพิ่มพื้นที่มากขึ้นในทุกปี ตอนนี้ได้แค่ 4,050 ไร่ ซึ่งมีส่วนของภาคเอกชนที่มีการจัดทำสวนบนอาคาร 128 แห่ง สำนักงานเขตหลายเขตมีการดำเนินเรื่องนี้ ดัดแปลงพื้นที่รอบข้างทำเป็นพื้นที่สีเขียว รวมถึงสวนแนวตั้ง ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ ภายในปีนี้เราจะดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อีก 950 ไร่ และคาดว่าจะมีพื้นที่สีเขียวต่อคนเป็น 6.38 ตารางเมตร
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ได้ระบุค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในเมืองควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน หรือกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่สีเขียว 44 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
พื้นที่สีเขียวน้อยกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า
จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) พบว่า พื้นที่สวนสาธารณะปัจจุบันของกรุงเทพฯ (ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2560) มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ 76.04 ตารางวา พื้นที่ 35,414,704.16 ตารางเมตร จำนวนประชากรของกรุงเทพฯ (จากสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง) 5,686,646 คน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 6.23 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO มาก
โดยเขตที่มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยที่สุดไม่ถึง 2 ตารางเมตร/คน คือ เขตวัฒนา 1.53 ตารางเมตร/คน เขตวังทองหลาง 1.57 ตารางเมตร/คน เขตบางซื่อ 1.81 ตารางเมตร/คน เขตดินแดง 1.89 ตารางเมตร/คน สำหรับเขตที่มีอัตราส่วนมากที่สุดคือ เขตคันนายาว 22.87 ตารางเมตร/คน