xs
xsm
sm
md
lg

‘ธนาคารขยะรีไซเคิลวิถีพอเพียง’ พีทีที ฟีนอล เดินหน้าปลูกฝังเยาวชน 4.0 รักษ์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกวันนี้ “เครือข่ายโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลวิถีพอเพียง” โดยบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด บริษัทในกลุ่ม พีทีที โกลบอล เคมิคอล ถือว่าบรรลุผลสำเร็จในการสร้างสมดุล การพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับสองโรงเรียนนำร่องซึ่งตั้งอยู่ละแวกโรงงานของบริษัทฯ อย่างเป็นรูปธรรม

ปีที่ผ่านมา พีทีที ฟีนอล นำแนวความคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Town) โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาใช้อย่างจริงจัง ชัดเจน ด้วยเป้าหมายทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาอย่างครบวงจร ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภายใต้ “โครงการธนาคารขยะรีไซเคิลวิถีพอเพียง” ในสองโรงเรียนนำร่อง ได้แก่ โรงเรียนวัดมาบชลูด และโรงเรียนบ้านหนองแฟบ ซึ่งอยู่ในละแวกโรงงานพีทีที ฟินอล จังหวัดระยอง ภายใต้ความร่วมมือจาก วิสาหกิจชุมชนมาบชลูด รีไซเคิล ชุมชนหนองแฟบ และชุมชนมาบชลูด และมหาวิทยาลัยมหิดล
พร้อมกับน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีจากภายในสู่ภายนอกองค์กร ด้วยหวังให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของสถานประกอบการที่อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน
กัมพล ชัยกิจโกสีย์

กัมพล ชัยกิจโกสีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวถึงผลดำเนินงานล่าสุดของ “โครงการธนาคารขยะรีไซเคิลวิถีพอเพียง” ในสองโรงเรียนนำร่องซึ่งมีนักเรียนในระดับประถมศึกษาประมาณ 800 คน ว่าสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนดีขึ้น สองโรงเรียนดังกล่าวเรายกเป็นโรงเรียนต้นแบบ เนื่องจากคุณครูและนักเรียน สัมผัสได้จริงถึงประโยชน์ของธนาคารขยะวิถีพอเพียง ว่าสร้างประโยชน์ให้ทั้งแก่ตนเอง ชุมชน สิ่งแวดล้อม
โครงการนี้นอกจากสร้างรายได้จากการขายขยะรีไซเคิล ยังเป็นแบบฝึกหัดที่ดีเยี่ยมในการปูพื้นฐานปลูกฝังนิสัยให้เด็กๆ รู้จักเก็บออมเงิน ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ก็ได้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงงานและชุมชนมากขึ้นด้วย
กัมพล กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี เนื่องจากความร่วมมือที่ดีของพันธมิตร เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ Waste Management System ซึ่งช่วยในการจัดเก็บข้อมูลให้มีความถูกต้องแม่นยำ และบริหารจัดการฐานข้อมูลการคัดแยกขยะให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ วิสาหกิจชุมชนมาบชลูด รีไซเคิล ชุมชนหนองแฟบ และชุมชนมาบชลูด ก็ให้ความสะดวกในการมารับซื้อขยะรีไซเคิลถึงโรงเรียนทั้งสองแห่ง


ขั้นตอนการจัดการขยะ โดยธนาคารขยะวิถีพอเพียง
นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้ขายจะนำขยะที่เก็บรวบรวมสะสมไว้ที่บ้าน นำมาขายที่โรงเรียนตามรอบเวลาที่แจ้ง ประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน สำหรับขยะรีไซเคิล ถูกแบ่งแยกย่อยตามผลิตภัณฑ์และราคารับซื้อ 14 ประเภทด้วยกัน เช่น กระดาษขาว-ดำ กระดาษกล่องสีน้ำตาล กระดาษหนังสือพิมพ์ กระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียม ขวดแก้วเหล้าเบียร์ ขวดน้ำพลาสติกใส ขวดพลาสติกขุ่น ท่อพีวีซี เหล็ก เป็นต้น โดยผู้ซื้อ คือวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้กำหนดราคา
เมื่อคัดแยก ชั่งขยะ และคิดราคาแล้ว เด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ขายขยะรีไซเคิลก็จะมีสมุดบัญชีรับฝาก บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และสามารถฝากถอนเป็นเงินได้
“ถึงวันนี้ เราบรรลุเป้าหมายในการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจให้นักเรียนครูและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมลดปริมาณขยะ และสร้างรายได้เสริมจากขยะที่ผ่านการคัดแยก นับเป็นการบรรลุผลในเฟสแรกซึ่งเริ่มจากเยาวชนสู่ชุมชน เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ด้วยการรู้ค่าของขยะรีไซเคิลและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความสะอาดภายในครอบครัว โรงเรียน ชุมชนของตัวเอง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ดี อีกทั้งส่งผลให้สุขภาพจิตดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง ชุมชนน่าอยู่ ปราศจากมลพิษ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีที ฟีนอล กล่าว
บริษัทฯ และจิตอาสาพีทีที ฟีนอล ตั้งเป้าหมายต่อไปว่า โครงการนี้จะถูกต่อยอด สร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดปริมาณขยะ โดยเป็นอีกโครงการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียนที่มีการขยายไปสู่ชุมชนในวงกว้างขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น