แม้ว่าหลายประเทศจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวกันไปไกลแล้ว แต่ไทยเองก็ไม่ยอมหมดความหวัง เพราะสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตร/คน ให้ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า
และจะเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะอีก 950 ไร่ ซึ่งในปีที่แล้ว คนกรุงได้สวนสาธารณะแห่งใหม่เพิ่มเติม คือ สวนราษฎร์ภิรมย์ สวนพระยาภิรมย์ และสวนป่าเบญจกิติ
สวนสิริภิรมย์ เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว
ตั้งอยู่บริเวณบึงลำไผ่ ภายในซอยประชาร่วมใจ 7 เขตมีนบุรี บนพื้นที่ 78 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา แต่เดิมเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ มีลักษณะเป็นคลองผ่ากลาง สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคนในครอบครัว
ชื่อสวนสิริภิรมย์ ให้ความหมายว่า สวนที่มีแต่ความรื่นรมย์และความเจริญ พื้นที่มีลักษณะเป็นคลองผ่ากลาง การดำเนินการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ได้ปรับพื้นที่ฝั่งตะวันออก จำนวน 23 ไร่ ด้วยแนวคิดในการออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคนในครอบครัว จึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในชุมชน อาทิ สนามเด็กเล่น ลานพักผ่อนริมน้ำ เส้นทางเดิน - วิ่ง ออกกำลังกาย และเส้นทางจักรยาน ซึ่งทั้ง 2 เส้นทาง ถูกออกแบบให้เป็นเส้นทางคู่ขนาน แบ่งกั้นด้วยไม้พุ่มและอยู่ภายใต้อุโมงค์ต้นไม้ใหญ่ช่วยเพิ่มความร่มรื่น
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับเด็กเล็ก โดยแบ่งเป็นพื้นที่บ่อทราย เพื่อการเรียนรู้กิจกรรมนักสำรวจน้อย เส้นทางจักรยานสำหรับเด็กเล็ก มีบริเวณที่จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ ได้แก่ สวนพรรณไม้เหมือนที่แตกต่าง จัดแสดงพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วเป็นพันธุ์ที่แตกต่างกัน อาทิ ชัยพฤกษ์-ราชพฤกษ์ อินทนิลน้ำ-อินทนิลบก อีกทั้งสวนพรรณไม้เกียรติประวัติของไทย อาทิ มหาพรหมราชินี กาญจนิการ์ และสวนรวบรวมพันธุ์ไผ่ชนิดต่างๆ อาทิ ไผ่ดำ ไผ่เหลือง โดยสวนสิริภิรมย์จะเป็นสวนสาธารณะของทุกคนในครอบครัวแห่งใหม่ในเขตมีนบุรี
ส่วนในปีนี้ยังมีสวนสาธารณะอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งใกล้เสร็จสมบูรณ์อีก 3 แห่ง คือ สวน 9 เนิน เดินตามรอยพ่อ สวนบริเวณ ซ.เพชรเกษม 69 และ สวนปทุมวนานุรักษ์ อยู่ใจกลางเมืองข้างเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งกับเมกะโปรเจกต์ มักกะสัน เนื้อที่ 497 ไร่ ที่มีโอกาสจะเปลี่ยนเป็นปอดใหญ่ของกรุงเทพฯ ในอนาคต สอดคล้องแผนพัฒนากรุงเทพมหานครยุทธศาสตร์ “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ที่มีเป้าหมายให้เมืองกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวกระจายครอบคลุมทั่วมุมเมือง ประชาชนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ