ว่ากันว่าหากประเทศไทยจะพลิกฟื้นประเทศให้เป็นเมืองที่สะอาดสะอ้านอย่างยั่งยืน เห็นทีจะต้องเลียนแบบแนวทางปฏิบัติของเมืองไทเป ไต้หวัน เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาขยะของไทย ใกล้เคียงกับยุคขยะเต็มเมืองของไต้หวัน
ปัจจุบันนี้ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในไต้หวันทั้งหมด คิดเป็นปริมาณสูงถึงร้อยละ 55 ถูกนำกลับมารีไซเคิลใช้ได้ใหม่ ตัวเลขนี้สูงกว่าทุกประเทศในโลก ถึงขนาดว่าหนังสือพิมพ์ The Wall street Journal ของสหรัฐรายงานว่า “ประเทศไต้หวันได้ผันตัวเองจากเกาะที่เต็มไปด้วยขยะ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ที่เพียงพอสำหรับการกลบฝังขยะ”
การรีไซเคิลขยะของไต้หวัน เริ่มต้นขึ้นปลายทศวรรษที่ 1990 ขณะนั้น หม่าอิงจิ่ว เป็นผู้ว่าการกรุงไทเป วางเป้าหมายจะทำให้บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน ขจัดปัญหาขยะล้นเมืองเนื่องจากขาดพื้นที่ฝังกลบ โรงเผาขยะก็มีไม่กี่โรง จะกำหนดพื้นที่ฝังกลบ หรือพื้นที่สร้างโรงเผาขยะที่ไหน ก็โดนชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้าน ทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นต้นเหตุก่อเกิดการพิพาทระหว่างเมืองกับเมือง
เมืองไทเป ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวัน กำหนดนโยบายการกำจัดขยะเสียใหม่อย่างเอาจริงเอาจัง และเด็ดขาด นอกจากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแยกขยะที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้ออกจากขยะทั่วไป แต่ขณะเดียวกันในระยะยาวก็จัดเป็นหลักสูตรสอนตั้งแต่โรงเรียนชั้นประถมให้เด็กนักเรียนกลับบ้านสอนพ่อแม่อีกต่อหนึ่ง ซึ่งให้ผลลัพธ์ได้ดีเกินคาด
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการจัดการขยะอื่นๆ ประกอบ เช่น รถเก็บขยะที่เปิดดนตรี ถุงใส่ขยะที่ต้องซื้อจากรัฐบาลและรวมค่ากำจัดขยะอยู่ด้วยแล้ว รัฐบาลยังมีกำหนดให้จัดการแยกขยะออกเป็นขยะรีไซเคิล หรือขยะที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ได้อีก และขยะเปียกที่จะนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ย เป็นต้น
จากการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และการมีมาตรการรองรับที่ดี ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี ส่งผลให้ปริมาณขยะจริงๆ ลดลงอย่างมาก ถึงขั้นที่โรงเผาขยะบางโรงต้องปิด เพราะไม่มีขยะให้เผา
ข้อมูลอ้างอิง https://www.wsj.com/articles/taiwan-the-worlds-geniuses-of-garbage-disposal-1463519134