xs
xsm
sm
md
lg

ลดค่าไฟ และวิธีคำนวณค่าไฟง่ายๆ ด้วยตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงหน้าร้อนนี้ (มีนาคม-พฤษภาคม) ที่มาพร้อมกับค่าไฟแพงขึ้น หลายคนอาจจะอยากคำนวณค่าไฟฟ้า เพื่อหาทางประหยัดค่าใช้จ่าย เราเริ่มง่ายๆ ด้วยการทำความรู้จักคำศัพท์ดังต่อไปนี้กันก่อน
Watt (W) / วัตต์ คือ หน่วยของกำลังไฟฟ้า
Kilowatt (kW) / กิโลวัตต์ คือ หน่วยของกำลังไฟฟ้าที่มีค่าเท่ากับ 1000 วัตต์
kW-hour / กิโลวัตต์-ชั่วโมง คือ หน่วยของการคิดค่าพลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า ยูนิต (Unit) หรือหน่วยนั่นเอง
ในการคิดค่าไฟฟ้าฐาน ที่เราต้องจ่ายกันทุกๆ เดือน มีที่มาดังนี้
พลังงานไฟฟ้า (ยูนิต หรือ kW-hour) = กำลังไฟฟ้า (W) X เวลา (ชั่วโมง) / 1,000*
*ตัวเลข 1,000 ที่นำมาหาร เพื่อปรับหน่วยให้เป็น kW-hour นั่นเอง
จากนั้นนำ ค่าพลังงานไฟฟ้า (ยูนิต หรือ kW-hour) ที่คำนวณได้มา X ราคาค่าไฟต่อยูนิต (บาท) ก็จะได้ "ราคาค่าไฟฟ้าฐาน (บาท)" ออกมา
ซึ่งค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือนนั้น จะประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 
เพราะฉะนั้นหากทราบค่าไฟฟ้าฐานแล้วเราก็จะสามารถทราบค่าไฟฟ้าคร่าว ๆ ของแต่ละเดือนได้ และจากสูตรการคำนวณจะเห็นได้ว่า ยิ่งจำนวนชั่วโมงการใช้งานเครื่องไฟฟ้าน้อยลงเท่าใด ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนก็จะน้อยลงเท่านั้น
ดังนั้นวิธีประหยัดค่าไฟฟ้าง่าย ๆ ก็คือ ลดชั่วโมงการใช้เครื่องไฟฟ้านั่นเอง โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงช่วยชาติ ลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืน
พีคไฟฟ้า หมายถึง ช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ซึ่งในประเทศไทยจะมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี เนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด โดยกลางวันจะอยู่ที่ช่วงเวลา 13.00 - 15.00 น. ส่วนกลางคืนช่วงเวลา 19.00 - 21.00 น.
สำหรับในช่วง “กลางคืน” ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่บ้าน ในเวลานี้เราสามารถช่วยชาติลดพีคได้ ด้วย 4 วิธีการง่าย ๆ คือ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน วันละ 2 ชั่วโมง หรือจะมากจะน้อยกว่านี้ก็ทำให้เราจ่ายค่าไฟประหยัดมากขึ้น หรือน้อยลงนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น