xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยคิดอย่างไรกับการอนุรักษ์น้ำ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“น้ำ“ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าของโลก แม้ว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกจะเป็นน้ำ แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มที่พบได้ในทะเลและมหาสมุทร มีน้ำเพียงร้อยละ 2.5 ที่เป็นน้ำจืด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก รวมไปถึงน้ำใต้ดินที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ด้วย แหล่งน้ำจืดที่นำมาดื่มกินและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งได้มาจากทะเลสาป อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ และสำธาร มีจำนวนเพียงร้อยละ 0.26 ของน้ำจืดที่มีอยู่ทั้งหมด โดยน้ำจืดในปริมาณดังกล่าว ยังมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในสภาพปนเปื้อนและมีสารพิษ ต้องทำการบำบัดก่อนนำมาใช้อีกด้วย ในปัจจุบัน มีประชาชนเกือบ 1,400 ล้านคน ทั่วโลก ที่ขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภคจากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น

ในปี พ.ศ.2535 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Water” โดยเริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2536 เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างๆ รับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต

สำหรับประเทศไทย ในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่เพียงพอ ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม และปนเปื้อนสารพิษอันมีสาเหตุมาจากชุมชนเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งวิกฤตน้ำดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างมหาศาล และมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น สาเหตุดังกล่าวนั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งขาดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมการใช้น้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของคนไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,452 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1- 15 มีนาคม 2561 ในหัวข้อ “คนไทยกับการรักษ์น้ำ เนื่องในวันอนุรักษ์น้ำโลก” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศ ต่อสถานการณ์และความกังวลต่อสถานการณ์น้ำกินน้ำใช้ในปัจจุบันของประเทศไทย แนวทางในการประหยัดน้ำกินน้ำใช้ และการแนวทางในการจัดการน้ำเสียในระดับครัวเรือนของคนไทยในปัจจุบัน

ผลการสำรวจ สถานการณ์ความเพียงพอของปริมาณน้ำกินน้ำใช้ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 58.11 เห็นว่า ปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการใช้ ในขณะที่ร้อยละ 41.89 เห็นว่ามีไม่เพียงพอต่อการใช้ ในขณะที่สถานการณ์ด้านความสะอาดของน้ำ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.43 เห็นว่าน้ำกินน้ำใช้ขาดความสะอาด มีเพียงร้อยละ 34.57 ที่เห็นว่าน้ำมีความสะอาด และเมื่อถามถึงความเหมาะสมของราคาน้ำกินน้ำใช้ในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนร้อยละ 54.17 เห็นว่าน้ำกินน้ำใช้ในปัจจุบันมีราคาสูงเกินไป ในขณะที่ ร้อยละ 45.83 เห็นว่าน้ำกินน้ำใช้มีราคาที่เหมาะสม

เมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับน้ำกินน้ำใช้ พบว่าประชาชนกังวลในประเด็นเรื่อง ปัญหาความสะอาดและความปลอดภัยของน้ำกินน้ำใช้ มากที่สุด (ร้อยละ 46.56) รองลงมาได้แก่ ปัญหามลภาวะทางน้ำ เช่น น้ำเสีย น้ำทิ้ง (ร้อยละ 32.51) ปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ (ร้อยละ 30.85) และปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร (ร้อยละ 26.10)

และเมื่อสอบถามถึงการดำเนินการหรือวิธีการประหยัดการใช้น้ำในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทย พบว่า กว่าร้อยละ 92.12 จะมีการดำเนินการหรือมีวิธีการประหยัดน้ำในรูปแบบต่าง ๆ โดยพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 73.52 จะประหยัดน้ำโดยการปิดน้ำระหว่างการแปรงฟัน/โกนหนวด อันดับ 2 ร้อยละ 58.38 ประหยัดน้ำโดยการใช้ฝักบัวอาบน้ำ แทนการตักอาบ อันดับ 3 ร้อยละ 40.29 ประหยัดน้ำโดยการทำความสะอาดถ้วยชามที่สกปรกก่อนล้าง อันดับ 4 ร้อยละ 29.18 ประหยัดน้ำโดยการใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อนในการล้างมือ อันดับ 5 ร้อยละ 27.76 ประหยัดน้ำโดยใช้ภาชนะรองน้ำในการล้างรถแทนสายยาง และอันดับที่ 6 ร้อยละ 21.38 ประหยัดน้ำโดยการใช้บัวรดน้ำแทนการใช้สายยางรดน้ำ
เมื่อสอบถามถึงการดำเนินการหรือวิธีการจัดการน้ำเสียในบ้านเรือนของประชาชนชาวไทย พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.53 มีการดำเนินการหรือวิธีการจัดการน้ำเสีย โดยพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 81.38 มีการวางแผนการใช้น้ำทิ้งให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำไปรดน้ำต้นไม้ อันดับ 2 ร้อยละ 23.70 มีการติดตั้งบ่อรับน้ำเสียจากครัวเรือน และ อันดับ 3 ร้อยละ 20.00 มีการติดตั้งถังดักไขมันกับท่อน้ำทิ้ง

สำหรับ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประหยัดน้ำกินน้ำใช้ ประชาชนชาวไทยให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า โดยใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยบางส่วนยังให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมถึงหน่วยงานภาครัฐ เช่น การประปาส่วนภูมิภาค ที่ควรหมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของท่อส่งน้ำ เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงการดูแลและปราบปรามอย่างเข้มงวดต่อโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องน้ำในปัจจุบัน สำหรับประชาชนคนไทยโดยทั่วไปอาจจะยังมองเห็นเป็นเรื่องไกลตัว
แต่หากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรักษาและดูแลแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ให้มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะนำไปอุปโภคและบริโภค ในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์แบบที่บางประเทศประสบ ทั้งการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำดื่มไม่ได้คุณภาพมาตรฐานที่ปลอดภัยเพียงพอต่อการบริโภค จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้ค่า และไม่ปล่อยน้ำเสียให้ไปปนเปื้อนอยู่กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดยไม่ได้มีการบำบัด
สิ่งเหล่านี้คนไทยทุกคนต้องช่วยกันด้วยการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ภายในครอบครัว โรงเรียน และสถานที่ทำงาน เพราะถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น