ปกติในหนึ่งวัน คนไทยหนึ่งคนจะสร้างขยะประเภทกล่องโฟม เฉลี่ยวันละ 2.3 กล่อง ถ้าคนไทย 60 ล้านคน ใน 1 วันจึงสร้างขยะประเภทนี้มากถึง 138 ล้านกล่องต่อวัน และช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนมักจะออกไปเที่ยวนอกบ้าน เดินทางไปต่างจังหวัด จึงเกิดพฤติกรรมแวะซื้ออาหารข้างทางรับประทานมากกว่าปกติ คาดว่าขยะประเภทกล่องโฟมน่าจะล้นกองขยะ มากกว่า 138 ล้านกล่องต่อวันอย่างแน่นอน
นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารไบโอชานอ้อย ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษจากชานอ้อย กล่าวว่าบรรจุภัณฑ์จากโฟมเพิ่มปัญหาขยะล้นโลก เพราะกว่ากล่องโฟมจะย่อยสลายต้องใช้เวลากว่า 1,000 ปี และสารสไตรีนซึ่งใช้ในการผลิตโฟมยังอาจทำให้เป็นโรคมะเร็งได้อีกด้วย
จากสถิติปริมาณขยะโฟมดังกล่าว บริษัทฯ จึงออกแคมเปญรณรงค์ “สงกรานต์นี้ สนุกไม่เพิ่มขยะ” เป็นแคมเปญใหม่ล่าสุดของเทศกาลสงกรานต์ นอกเหนือจากที่หลายๆหน่วยงานรณรงค์เรื่อง เมาไม่ขับ และสงกรานต์วัฒนธรรม อยากเชิญชวนให้คนไทยรักษ์โลก เลือกก่อนใช้ คิดก่อนทิ้ง ลดขยะเพื่อโลก แม้ว่าปีนี้จะเป็นการรณรงค์ครั้งแรก แต่ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารออมสินในจังหวัดเชียงใหม่ และ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์
“เรารณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่เพิ่มขยะเป็นปีแรกเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน เพราะทุกๆปี จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติขึ้นไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่นี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปริมาณขยะจะมีปริมาณมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เห็นด้วยกับสิ่งที่ไบโอชานอ้อยออกมารณรงค์ โดยได้นำป้ายรณรงค์ “สงกรานต์นี้ สนุกไม่เพิ่มขยะ” ติดภายในมหาวิทยาลัยและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัด และขอเชิญชวนนักศึกษาร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในบ้านเมืองของเรา ให้เลือกก่อนใช้ อย่างภาชนะใส่อาหารประเภทใดบ้างที่ดีต่อโลกและปลอดภัยต่อตัวเอง และอะไรที่เป็นอันตรายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง อีกทั้งก่อนทิ้งขยะทุกครั้งต้องหยุดคิด แยกขยะก่อนทิ้งเพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และสุดท้ายช่วยลดพฤติกรรมสร้างขยะ เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นโลก” นพ.วีรฉัตรฯ กล่าว
สำหรับงานวิจัยเรื่องอันตรายของกล่องโฟมนั้น มีการพูดคุยกันในงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค.ที่ผ่านมา จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โฟมถูกออกแบบมาให้ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร แต่ไม่เหมาะกับอาหารร้อน แต่อาหารไทยส่วนใหญ่เป็นอาหารร้อน เช่น ก๋วยเตี๋ยว แกงร้อน ผัดต่างๆ หากนำกล่องโฟมไปใส่อาหารร้อน สารสไตรีน ซึ่งใช้ในขั้นตอนการผลิตโฟม อาจละลายปะปนกับอาหารได้ สารสไตรีนถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B คือเป็นสาร (สารประกอบ) หรือส่วนผสมที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในคนได้ และถ้าปรุงรสอาหารที่อยู่ในกล่องโฟมด้วยน้ำส้มสายชูด้วย ความเป็นกรดจะยิ่งไปกระตุ้นให้สารสไตรีนออกมามากขึ้น
ขณะที่ บรรจุภัณฑ์อาหารไบโอชานอ้อย ใช้วัตถุดิบจากเส้นใยธรรมชาติ(non-wood fiber) ได้แก่ เยื่อกระดาษจากชานอ้อย โดยกระบวนการผลิตเน้นคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดสารคลอรีนในการฟอกสีหรือที่เรียกว่า Elementary Chlorine-Free (ECF) ไม่ก่อให้เกิดของเสียจากกระบวนการผลิต นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นยังผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV มีให้เลือกมากกว่า 70 แบบ ทั้งประเภท จาน ชาม ถาด ถ้วยน้ำ และกล่องมีฝาปิด โดยผลิตภัณฑ์มีสีขาว รูปทรงแข็งแรง สามารถใช้ได้กับอาหารทั้งร้อนและเย็น ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อน ไร้สารก่อมะเร็ง สามารถทนอุณหภูมิที่ -40 ถึง 250 องศาเซนเซียส ใส่น้ำร้อนหรือน้ำมันได้ถึง 150 องศาเซนเซียส เข้าเตาอบและไมโครเวฟได้ ที่สำคัญสามารถย่อยสลายโดยการฝังกลบดิน ภายใน 45 วัน จึงไม่สร้างปัญหาขยะล้นโลก